จากกรณี นายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก
ออกมาเปิดเผยว่า มีการให้บริการเล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ที่วิปริต ทั้งเรื่องร่วมเพศระหว่าง เด็กกับเด็ก พี่กับน้อง แม่กับลูก ซึ่งผิดทั้งศีลธรรม และกฎหมาย ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1900xxxxxx และเรียกร้องให้ บ. ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานแก่เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว เข้าไปตรวจสอบ และแสดงความรับผิดชอบนั้น
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นายมนตรี กล่าวว่า เช้าวันนี้ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ของทีโอที
ที่โทรมาชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ได้ขอเบอร์โทรศัพท์ที่ให้บริการลักษณะนี้ที่ตนได้รับแจ้งมา และบอกว่าจะนำไปตรวจสอบ จากนั้นก็โทรศัพท์กลับมาอีกครั้งหนึ่งบอกว่า เบื้องต้นทราบว่า เป็นเบอร์ที่ บ.สามารถ มัลติมีเดีย จำกัด ขออนุญาตเปิดให้บริการจากทีโอที ซึ่งตนได้สอบถามไปว่า ในสัญญาของทีโอทีอนุญาตให้ทำธุรกิจทำนองนี้ได้หรือ ก็ได้รับการชี้แจงว่า เดิมทีบริษัทดังกล่าวอ้างว่า เป็นการให้บริการความรู้ด้านเพศศึกษาในเชิงวิชาการ ทีโอทีจึงอนุญาตให้เปิดได้ และจากการตรวจสอบก่อนหน้านี้ก็ไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทีโอที ขอบคุณครูยุ่นที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผย จากนี้จะดำเนินการปิดให้บริการหมายเลขโทรศัพท์ 1900xxxxxx ที่ได้รับแจ้งมาทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสัญญา บ. ทีโอที จำกัด (มหาชน)
ได้รับการชี้แจงว่า มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากทีโอทีให้เปิดใช้หมายเลขโทรศัพท์พิเศษซึ่งขึ้นต้นด้วย 1900 จำนวน 6 บริษัท ซึ่งขณะนี้ทีโอทีกำลังร่างหนังสือเตรียมส่งให้กับบริษัทดังกล่าว ให้ปิดการให้บริการดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน รวมถึงเลขหมายอื่นๆ ที่บริษัทนี้ขออนุญาตไว้ด้วย ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 37 เลขหมาย
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
กล่าวถึงโปรแกรมโทร. 1900xxxxxx ที่ให้บริการเล่าเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างละเอียด ว่า ประเด็นแรกที่วธ.ทำเมื่อ 4-5 ปี ที่ผ่านมา คือทำร่วมกับภาคประชาสังคม มีการพูดถึงเรื่องโปรแกรม 1900 ขึ้นมา และเข้าสู่การแก้ไขปัญหา โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม เช่น มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น แม้ว่าเราจะพยายามเขียนเสือให้วัวกลัวและจัดการแล้ว แต่ปัจจุบันยังเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำ หากภาคประชาสังคมไม่ให้ความร่วมมือ เหตุการณ์มันก็ยังคงอยู่ การจัดการแก้ไขปัญหาต้องเกิดจากการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทุกอย่างเราทำมาหมดแล้ว เข้าใจว่าสังคมก็รู้ว่าอะไรคือภัยต่อชีวิต บางครอบครัวก็มีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูก แต่บางครอบครัวยังมีความอ่อนแออยู่ อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้เราเคยเตือนภัยให้ทั้งหมดแล้ว ในการที่จะมีองค์กรหรือภาคประชาสังคมเข้าร่วมก็เป็นเรื่องที่ดี
น.ส.ลัดดากล่าวต่อว่า ต้องขอบคุณนายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น ที่มองประเด็นนี้
ซึ่งวธ.ไม่เคยเพิกเฉย แต่เรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย มีทั้งอนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา ฟื้นฟู การที่ต้องแก้ไขปัญหาสังคมในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค สิ่งที่จะแก้ไขได้คือมีจิตสำนึก ซึ่งเราทำในหลายมิติ ให้ทุกคนมีค่านิยมที่ถูกต้อง ซึ่งมันอาจจะไม่ถูกโดยตรงแต่จะมีการใส่สาระสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือเยาวชน เช่น ค่ายเยาวชนอาสาสมัคร ค่ายเครือข่ายครอบครัว ค่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นต้น มุ่งเน้นให้ทุกคนในสังคมเป็นคนดี และยังทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นต้น
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯ กล่าวว่า อยากฝากให้ครอบครัวในสังคมมีความเข้มแข็ง
ดูแลและเอาใจใส่เด็กและเยาวชน ให้ความรักความอบอุ่น ให้รู้เท่าทันสื่อ เด็กเองหากมีคนพูดคุยกับเขา ไม่เหงา ก็คงไม่เสียเวลาโทรศัพท์ การให้ข้อมูลในการดำเนินชีวิตก็ต้องอาศัยครอบครัว โรงเรียน ช่วยกันดูแล เด็กเองอยู่ในวัยรุ่น อยากรู้ อยากลอง อยากเห็น ช่องทางโทร 1900 เขาก็อยากรู้ว่าผู้ใหญ่คุยอะไรกัน ก็เป็นไปได้ พ่อแม่ควรสอดส่องดูแลเด็กด้วย เพราะเด็กเองก็ต้องขอเงินพ่อแม่ ในขณะที่โรงเรียนต้องสอนให้เด็กรู้ถึงปัญหาต่างๆ มีการอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวัง ก็สามารถพัฒนาไปเป็นชมรมเฝ้าระวังได้ หากเกิดการขยับทุกภาคส่วนปัญหาจะลดน้อยลง ท้ายที่สุดจะไม่เกิดขึ้น เวลานี้จะไปโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าไม่ทำงานไม่ได้ เพราะทุกคนทำงานหนัก แต่ปัญหามันเกิดขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค