“จุรินทร์” ชง ครม.แก้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ห้ามขายเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี ตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่เหลือ 10% ในปี 2557 แถมเล็งแก้กฎกระทรวงให้ผู้ผลิต และนำเข้าบุหรี่ปลอดไฟไหม้ดับเองได้ใน 2 นาที และห้ามเติมสารปรุงแต่งในบุหรี่
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบกับการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ซึ่งตนจะลงนามในเร็ว ๆ นี้เพื่อนำเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป สำหรับสาระสำคัญที่จะแก้ไข คือ
คำนิยามของคำว่า "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงบุหรี่ทั่วไป แต่จะแก้ไขเป็นผลิตภัณฑ์ที่มมีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ
นอกจากนี้จะแก้ไขนิยามคำว่า "ขาย" ให้หมายความรวมถึง การจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนและให้เพื่อประโยชน์ทางการค้า รวมทั้งแก้ไขนิยามคำว่า "โฆษณา" ให้รวมถึงการสื่อสารทางการตลาดด้วย
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ประเด็นการขาย คือจากเดิมห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงหรือซื้อบุหรี่ได้น้อยลง นอกจากนี้ยังห้ามให้ (แจก) บุหรี่ ห้ามขายโดยใช้เครื่อง ห้ามขายทางอินเทอร์เน็ต ห้ามแบ่งขาย ห้ามลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย รวมทั้งวิธีการอื่นใดตามที่ รมว.สาธารณสุขกำหนด ส่วนประเด็นการโฆษณาห้ามโฆษณาทั้งยี่ห้อและชื่อบริษัททั้งบุหรี่ที่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขายด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการแก้ไขกฎกระทรวงใหม่และเสนอให้ ครม.เห็นชอบใน 2 ประเด็น คือ 1.กฎกระทรวงว่าด้วยบุหรี่ปลอดไฟไหม้ โดยจะมีการบังคับให้บุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศและนำเข้าใช้กระดาษพิเศษ ซึ่งตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยกระดาษมวนบุหรี่ที่ใช้ใหม่นั้นถ้าไม่สูบจะดับเองได้ใน 2 ช่วง ของบุหรี่ 1 มวน คือสมมุติสูบบุหรี่ 1 มวน ถ้าไม่สูบบุหรี่จะดับเองได้ในช่วงที่ 1 พอจุดสูบใหม่แล้วไม่สูบต่อเนื่องจะดังเองได้ในช่วงที่ 2 ซึ่งต่างจากบุหรี่ปัจจุบันคือแม้จะไม่สูบก็ไหม้จนหมดมวน ซึ่งสร้างควันบุหรี่มือสอง
ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้กระดาษชนิดใหม่จะทำให้ควันบุหรี่มือสองลดลงและลดปัญหาไฟไหม้ได้ด้วย โดยในปัจจุบันมีประเทศที่ผลิตบุหรี่ปลอดไฟใหม้แล้วคือ สหรัฐฯ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 และในเดือน ก.ค.ปีนี้จะครบทั้ง 50 รัฐ แคนาดาใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ออสเตรเลียกับฟินแลนด์ซึ่งประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว และอีก 27 ประเทศสหภาพยุโรปได้รับหลักการที่จะหันมาผลิตบุหรี่ปลอดไฟไหม้ด้วย ทั้งนี้หากมีผลบังคับใช้ได้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ทำเรื่องนี้
นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า 2.กฎกระทรวงที่จะมีการแก้ไขอีกฉบับคือ ห้ามเติมสารปรุงแต่งในบุหรี่ เพื่อจูงใจให้มีผู้สูบเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันพบว่า บุหรี่จำนวนมากมีการเติมสารหลายชนิดลงไป เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพ อาทิ วิตามินซี กรดอะมิโน กรดผลไม้ กลิ่นหรือรสกาแฟ ช็อกโกแลต เพื่อจูงใจวัยรุ่นและผู้หญิงให้สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่โดยส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้าทั้งสิ้น
“สำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับตนจะเร่งดำเนินการนำเสนอ ครม.ต่อไปคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในระยะเวลา 4 เดือนต่อจากนี้ไป แต่คงจะให้เวลาผู้ผลิตและนำเข้าดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงอีก 1 ปี นับจากกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ทั้งนึ้คาดว่ามาตรการที่ออกมาจะสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่จากประมาณ 20 % ในปัจจุบันให้เหลือ 10% ในปี 2557” นายจุรินทน์ กล่าว
ด้าน นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว่า การขยายอายุห้ามจำหน่ายบุหรี่จาก 18 ปี เป็น 20 ปี นั้น จะเป็นการช่วยลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งจากการสำรวจนักสูบหน้าใหม่ อายุระหว่าง 15-24 ปี ในปี 2534 ก่อนมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีจำนวน 1.9 ล้านคน แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมาเหลือเพียง 1 ล้านคน จึงเชื่อว่าหลังจากมีการขยายอายุห้ามจำหน่ายบุหรี่จะช่วยลดการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนลงได้ ส่วนจะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น อย่างไรก็ตามทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนตัวยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่สุด ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่การออกเป็นกฎหมายจะถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางสังคม ซึ่งจะมีผลต่อผู้สูบและผู้ขายเอง
นพ.ประกิต กล่าวว่า การเปลี่ยนเป็นกระดาษพิเศษมวลบุหรี่เพื่อช่วยลดไฟไหม้นั้น ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตบุหรี่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตบุหรี่นั้นต่ำมาก โดยบุหรี่ที่มีราคาแพงที่สุดยังมีต้นทุนแค่ 7 บาทต่อซอง นอกนั้นจะมีต้นทุนเพียง 2-3 บาทต่อซองเท่านั้น
ในส่วนของ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า มีการสำรวจแล้วว่าบุหรี่ปลอดไฟไหม้ช่วยลดไฟไหม้ลง ได้ ซึ่งบุหรี่สาเหตุเป็น 1 ใน 6 ของการเกิดเพลิงไหม้ และยังช่วยลดคนตายจากไฟไหม้ลงได้ แต่บุหรี่โดยทั่วไปหากจุดไฟแล้วจะดับลงได้ต้องใช้เวลา 10 นาที แต่หากเป็นบุหรี่ปลอดไฟไหม้ที่ใช้กระดาษชนิดพิเศษเมื่อจุดบุหรี่แล้ว หากทิ้งไว้โดยไม่สูบ บุหรี่จะดับลงภายใน 2 นาที ซึ่งมีหลายประเทศบังคับให้ใช้กระดาษพิเศษนี้ในการมวนบุหรี่แล้ว และไม่คิดว่าจะมีการคัดค้าน เนื่องจากเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก.