สธ.ห่วงนักบิดมอเตอร์ไซค์วัยโจ๋ อายุสั้น-พิการ เพราะใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งเพียงร้อยละ 14
วันนี้ (4 ม.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2548-2552 พบกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาปีที่ 2 และกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 5 ใน 24 จังหวัด รวม 234,483 คน อายุเฉลี่ย 16-17 ปี เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร จากอุบัติเหตุจราจร โดยพฤติกรรมเสี่ยงอันดับ 1 ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ พบร้อยละ 50 อันดับ 2 คือ การทะเลาะวิวาท พบร้อยละ 23 อันดับ 3 คือ การใช้สารเสพติด เช่น กัญชา กระท่อม ยาบ้า พบร้อยละ19 อันดับ 4 คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถจักรยานยนต์มีร้อยละ 14 ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนี้ มีแนวโน้มสูงกว่าปี 2548 โดยเฉพาะพฤติกรรมการขับขี่นั้น นับว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะนักเรียนส่วนใหญ่เคยขับขี่รถจักรยานยนต์ และสวมหมวกกันน็อกน้อยมากเพียงร้อยละ 14 และมีนักเรียนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถจักรยานยนต์ร้อยละ 14 ส่วนนักเรียนที่เคยขับรถยนต์ หรือนั่งข้างคนขับ ซึ่งมีร้อยละ 85 แต่คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของศูนย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในปี 2552 พบว่า อายุยิ่งน้อยยิ่งไม่สวมหมวกกันน็อก และยิ่งดึกก็ยิ่งไม่สวมเช่นกัน โดยจะสวมหมวกกันน็อกในช่วงเดินทางไปทำงาน หากเดินทางในระยะใกล้ ๆ จะไม่สวม จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 30 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อกจะเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 93 คนซ้อนท้ายเสี่ยงเสียชีวิตร้อยละ 97 โดยในกลุ่มที่บาดเจ็บดังกล่าว บาดเจ็บที่ศีรษะมากถึงร้อยละ 81 ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บาดเจ็บที่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อกรายละ 15,992 บาท ซึ่งสูงเป็น 3 เท่าของผู้บาดเจ็บที่สวมหมวกกันน็อก.