ประชาชนเตรียมจ่ายเพิ่มค่าน้ำประปา

ปีกระต่ายคนไทยเตรียมรับภาระจ่ายค่าน้ำประปา รวมค่าบำบัดน้ำเสีย เผยต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มขึ้น 2-5 บาทต่อหน่วย

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.)  เปิดเผยว่า หลังจากที่ คพ.ใช้ความพยายามมากว่า 10 ปีเรื่องการจัดการมลพิษ แบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle)  ขณะนี้ถือว่าความพยายามดังกล่าวใกล้จะบรรลุความสำเร็จแล้วเป็นเรื่องแรกนั่นคือ การจัดเก็บค่าจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน โดยก่อนหน้านี้ มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ใน ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการน้ำ พ.ศ...  มีการแก้ไขกลับหลายวาระเพื่อความเหมาะสม และขณะนี้การแก้ไขดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว เตรียมจะเสนอเข้า ครม. และนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และคาดว่าจะออกบังคับใช้ได้ภายในปี 2554 นี้ 

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า เมื่อมีการบังคับใช้เรื่องการจัดเก็บระบบบำบัดน้ำเสียทั่วประเทศนั้น ผู้ใช้น้ำทุกครัวเรือนจะได้รับใบเสร็จเก็บค่าระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งเป็นใบเสร็จใบเดียวกับใบเสร็จเก็บค่าน้ำประปา แต่ในใบเสร็จจะแยกชัดเจนว่า ตัวเลขใดเป็นตัวเลขการใช้น้ำทั่วไป ตัวเลขใดเป็นตัวเลขค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอัตราการารจัดเก็บนั้นจะมี 3 ประเภทคือ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั่วไป อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม  คาดว่า อัตราค่าใช้จ่ายที่แต่ละบ้านจะต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียที่เพิ่มขึ้นมานั้นน้อยมาก คือ ที่อยู่อาศัยทั่วไป จะอยู่ที่ 2-3 บาท ต่อการใช้น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร อาคารพาณิชย์ จะอยู่ที่ 3.50-4 บาท  ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็จะอยู่ที่ 4.50-5 บาท   ขณะนี้ท้องถิ่นทั่วประเทศมีความพร้อมในเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว แต่ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายตรงนี้ท้องถิ่นเป็น ผู้รับผิดชอบ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทั่วไปจะต้องช่วยกันรับผิดชอบกรณีการจัดการน้ำเสียที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ในหลายๆประเทศ มีการดำเนินการมานานแล้ว

นายสุพัฒน์   กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้กำลังให้ฝ่ายนิติการคพ. ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงทรัพยากรฯ  ศึกษาความเป็นไปได้ในการเสนอให้มีประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้น  เหมือนกับมีประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น เนื่องจากพบว่าปัจจุบัน ถึงจะมีการปรับแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่ออุดปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนและทับซ้อนกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลจัดการด้านนมลพิษ และสิ่งแวดล้อมมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังมีกฎหมายต่างๆ มากกว่า 50  ฉบับ  อาทิ  พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ร.บ.ชลประทาน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.จราจร ซึ่งยังมีข้อบัญญัติที่ไม่สอด คล้องกัน ดังนั้นถ้ามีประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นกฎหมายกลาง ทั้งชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการก็สามารถใช้กฎหมายกลางนี้ได้ ทั้งนี้สำหรับขั้นตอนการดำเนินการคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการยกร่างประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม  เชื่อว่าโดยหลักการหลายหน่วยงานน่าจะเห็นชอบ 

ด้านนายเจริญ ภัสระ  ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการน้ำ พ.ศ.. เพื่อเตรียมเสนอพิจารณาในสภาในปีหน้า ซึ่งจะรวมการเก็บค่าน้ำเสียอยู่ด้วย  ทั้งนี้ในทางปฏิบัติเห็นว่าอาจจะมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ หากรวมบิลค่าประปา กับน้ำเสียในใบเดียวกัน เพราะจะเกิดปัญหาว่าถ้าลูกค้ายอมจ่ายค่าน้ำอย่างเดียว แต่ไม่พร้อมจ่ายค่าน้ำเสียก็จะเป็นบิลค้าง และกปน.ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งตรงนี้ต้องหาหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคือจะเป็นองค์การจัดการน้ำเสีย (อนจ.) หรือท้องถิ่น หรือทาง กทม. มาดำเนินการตรงนี้ให้ก่อน เพราะกปน.คงเป็นแค่แมสเซ็นเจอร์ที่ถือบิลไปให้กับคนกรุงที่เป็นลูกค้า 1.9 ล้านครัวเรือนเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะแยกบิลแจ้งหนี้น้ำเสีย โดย กปน.พร้อมจะเป็นผู้นำส่งบิลดังกล่าวให้



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์