รายงานข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 30 ธ.ค. นี้
กระทรวงพลังงานขอเวลาศึกษารายละเอียดนโยบายการแยกราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) เพิ่มอีก 3 เดือนหรือภายในเดือน มี.ค. 54 เนื่องจากการแยก 2 ราคา ประกอบด้วยการตรึงราคาภาคครัวเรือนและขนส่ง แต่ให้ลอยตัวภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะมีบางอุตสาหกรรม เช่น เซรามิกยังใช้ถังก๊าซหุงต้มขนาด 48 กก.จำนวนหนึ่งจึงจำเป็นต้องแยกตัวเลขส่วนนี้ให้ชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการลักลอบถ่ายเทได้
ขณะเดียวกันจะเพิ่มแรงจูงใจให้โรงกลั่นหันมาผลิตแอลพีจีป้อนตลาดมากขึ้น
โดยการกำหนดราคาแอลพีจีของโรงกลั่นเป็นการเฉลี่ยถ่วงน้ำมันเพื่อให้ราคาสะท้อนกลไกตลาด เนื่องจากปัจจุบันรัฐกำหนดราคาจำหน่ายแอลพีจีในประเทศ ณ โรงกลั่นให้ภาคครัวเรือนและขนส่งที่ราคา 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลทำให้โรงกลั่นขาดแรงจูงใจในการผลิตจึงหันไปปรับเปลี่ยนกระบวนการกลั่นเพื่อให้ได้แอลพีจีน้อยสุด
นอกจากนี้ที่ประชุมกพช.ยังจะมีการพิจารณากรอบการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาดูแลในอัตราไม่เกิน 5,000 ล้านบาท หากมากกว่านี้ ทางกระทรวงการคลัง และ พลังงาน จะหารือร่วมกันว่าจะใช้มาตรการใดมาดูแล
นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุม กพช. จะมีการหารือเรื่องการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี หน้าโรงกลั่นให้อิงราคาตะวันออกกลาง
ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซฯ ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นในตลาด 50,000 ตันต่อเดือน และจะช่วยลดเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เข้ามาอุดหนุนปีละ 1,200 ล้านบาท เพราะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งแอลพีจีในการนำเข้า ที่มีอัตราสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และที่สำคัญ ในปี 53 ซึ่งมีการนำเข้าแอลพีจีถึง 1.5 ล้านตัน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะพิจารณาเรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะเห็นชอบร่างสัญญาการลงนามซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ ลงทุนประมาณ 90,000 ล้านบาท.