เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม
เปิดเผยถึงแผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลปีใหม่ 2554 ซึ่งกำหนด 7 วัน ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 53 - 4 ม.ค. 54 ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้มข้นในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และอำนวยความสะดวกผู้ที่จะเดินทางท่องเที่ยว ไม่ให้มีให้ผู้โดยสารตกค้างตามสถานีขนส่ง และสถานีรถไฟ
นายโสภณ กล่าวว่า ได้จัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง ไม่ประจำทาง
เพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟ และเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับการเดินทาง โดยบริษัท ขนส่งจำ กัด (บขส.) เพิ่มจำนวนเที่ยวรถขาขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 ธ.ค. จำนวน 5,766 เที่ยว รวม 18,925 เที่ยว รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 581,832 คน และระหว่างวันที่ 1-4 ม.ค. 54 เพิ่มจำนวนเที่ยวรถขาล่อง 5,737 เที่ยว รวม 23,305 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร 722,055 คน รวมการรองรับจำนวนผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 53 - 4 ม.ค. 54 รวมทั้งสิ้น 1.303 ล้านคน
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มเที่ยวขบวนรถไฟในเส้นทางสายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 30-31 ธ.ค. จัดเพิ่ม 7 ขบวน รวมทั้งขาเข้า-ขาออก รองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมเฉลี่ย 3,500 คนต่อวัน และเที่ยวกลับวันที่ 3-4 ม.ค. จัดเพิ่ม 13 ขบวน รองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมประมาณ 4,000 คน
บริษัทการบินไทย เพิ่มเที่ยวบินพิเศษ 8 เที่ยวบิน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ (ไป-กลับ) ในวันที่ 30 ธ.ค. 53 - 1 ม.ค. 54
กรมทางหลวง จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ทางพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 (มอเตอร์เวย์) ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 27 ธ.ค. 53 - 24.00 น. ของวันที่ 3 ม.ค. 54 และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ สายบูรพาวิถี ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 27 ธ.ค. 53 - เวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 ม.ค. 54
นายโสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น ได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกเท่าตัว 24 ชั่วโมง
โดยเฉพาะจุดที่มีประชาชนใช้บริการหนาแน่น คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งที่ต่างๆ รถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน รวมทั้งให้เข้มงวดผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ทุกคนแอลกอฮอล์ต้องเป็น 0% กวดขันผู้ขับขี่รถสาธารณะที่ไม่ประจำทาง เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะที่ไม่ประจำทาง เช่น รถวิ่งเสริมในช่วงเทศกาล รถตู้ รถบัส
นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวง ได้ตั้งจุดพักรถร่วมบริการ กับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคม
เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวงชนบท บริการประชาชนที่ใช้บริการในเส้นทางหลวงทั่วประเทศจำนวนกว่า 12 แห่งทั่วประเทศ โดยแต่ละจุดจะมีระยะห่างไม่เกิน 250 ก.ม. จุดพักรถจะมีจุดพักผ่อน นวดให้บริการ แนะนำเส้นทางลัดเส้นทางเลี่ยง ดูแลบำรุงรักษารถเบื้องต้น และได้สั่งการให้แขวงการทางในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศตั้งจุดบริการ พร้อมอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ชุมชนมากที่สุด