ชงครม.แยกน้ำตาลบริโภคในประเทศ 2 ราคาเน้นอุดหนุนรายย่อย- ลอยตัวภาคอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ออกเป็น 2 ราคา โดยจะอุดหนุนให้ราคาขายแก่ผู้ค้ารายย่อยสำหรับกลุ่มครัวเรือนต่ำกว่าราคาขายในกลุ่มอุตสาหกรรม เหมือนกับกรณีของโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้ราคาใกล้เคียงกับตลาดโลกมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันพบว่าน้ำตาลทรายโควตา ก. ประมาณ 80% หรือ 20 ล้านกระสอบใช้ในภาคอุตสาหรรม แต่ภาคครัวเรือนใช้เพียง 20 % หรือ 5 ล้านกระสอบ
ทั้งนี้วิธีดำเนินการจะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาอุดหนุนในภาคครัวเรือน
โดยในอนาคตกระทรวงต้องการที่จะมีนโยบายสะสมเงินในกองทุนอ้อยฯ ให้ได้ 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนราคาโครงการใหม่จะต่างกันเท่าไรต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ช่วยคำนวณความเป็นไปได้ด้วย
“ขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะเสร็จภายในเร็วๆนี้ ซึ่งการปรับ 2 ราคาจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง เช่น สร้างรายได้แก่ชาวไร่อ้อยให้สอดคล้องกับทั่วโลก, ป้องกันการลักลอบไปประเทศเพื่อนบ้านที่สูงกว่าไทยเฉลี่ย 10 บาทต่อกก. ส่วนผู้บริโภครายย่อยคนไทยก็ยังได้รับการอุดหนุนราคาในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก”
ทั้งนี้ในอนาคตกองทุนฯ จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบอย่างมากเหมือนกับกองทุนน้ำมันฯ
ที่เข้าไปอุดหนุนพลังงานทดแทนและตรึงราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนชาวบ้านเดือดร้อนในช่วงที่ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของกองทุนอ้อยฯ ก็จะเน้นนำเงินมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ, การผลักดันรายได้เกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาน้ำตาลทรายให้อยู่ในระดับที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมในช่วงที่สถานการณ์ปริมาณน้ำตาลทรายตึงตัวในอนาคต เช่น กองทุนฯ เข้าไปซื้อน้ำตาลเป็นงวดๆ ครั้งละไม่มากสะสมไว้นำมาปล่อยในกรณีที่มีผู้ค้ากักตุนสินค้าเก็งกำไร เป็นต้น