วานนี้ ( 20 ธ.ค.) มีการสัมมนา “วิกฤตการเงินโรงพยาบาลภาครัฐ ร่วมชี้ชัด เร่งรัดแก้ไข”
จัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โดย นพ.มนฑิต พูลสงวน ผอ.รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ จ.พังงา กล่าวว่า สถานการณ์ จ.พังงา พบว่า หลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้างบประมาณทุก รพ.ติดลบหมด ปี 2553 เกือบ 10 ล้านบาท รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์มีต้นทุนการบริหารสูงกว่าทุกที่ เพราะอยู่บนเกาะ ปี 2553 รพ.ติดค่ายาเกือบ 5 ล้านบาท ทำให้ไม่มียาบริการคนไข้ แม้แต่ยาอินซูลินฉีดให้ผู้ป่วยเบาหวานก็ไม่มี ต้องให้ยากินแทน ไม่มีเข็มเย็บแผล ถุงมือแพทย์ เพราะบริษัทเวชภัณฑ์ไม่ส่งให้ เป็น รพ.ที่ขึ้นแบล็กลิสทุกบริษัท นอกจากนี้เรายังเป็นหนี้ค่าออกซิเจนบริษัท 2 แห่ง แห่งละแสนกว่าบาท บริษัทไม่ส่งให้แล้ว ทำให้ต้องวิ่งหยิบยืม รพ.อื่นก่อน อีกทั้งพยาบาลขอย้ายไปแล้ว 8 คนเพราะอยู่ไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทน แม้แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยังขอลางาน 1 สัปดาห์ เพื่อออกทะเลหาปลา เพราะทำงานแล้วไม่ได้ค่าเวร สุดท้ายเราคงต้องปิด รพ.เพราะไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้ อาจเปิดบริการได้เฉพาะผู้ป่วยนอกเท่านั้น ส่วนที่เหลือคงส่งต่อหมด วันนี้ต้องถามว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีจริงหรือ เพราะส่งผลอย่างที่เราเห็น สร้างปัญหามากมาย
ด้าน นพ.วิชาญ เกิดวิชัย ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเคยเป็น รพ.ที่รวย มีฐานะการเงินที่ดี
โดยสิ้นปี 2544 มีเงินคงเหลือถึง 150 ล้านบาท แต่พอเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มีปัญหา เพราะเป็นพื้นที่ประชากรน้อยทำให้รับงบรายหัวไม่มาก ดึงเงินบำรุงมาใช้ ในปีแรกเงินบำรุงหายไปถึง 50 ล้านบาท และลดลงเรื่อยๆ เฉลี่ยประสบปัญหาติดลบปีละ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2552 ได้ขอเงินช่วยเหลือจาก สธ. 80 ล้านบาท แต่ได้เงินมาแค่ 7 ล้านบาทเท่านั้น ตอนนี้มีหนี้สินเพิ่ม 200 กว่าล้านบาท ค้างชำระค่ายา 10 เดือน บางบริษัทยาไม่ส่งยาแล้ว ทำให้ รพ.ต้องซื้อยาสามัญถูกๆ มาใช้ ประชาชนไม่รู้ มีแต่กลุ่มผู้ป่วยข้าราชการที่รู้และหนีไปรับบริการ รพ.ทหาร และ รพ.อื่นแทน
ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.เตรียมจัดทำข้อเสนอการจัดการบริการกองทุนเหมายจ่ายรายหัวในปี 2555
เพื่อขอใช้สิทธิ์ในการเสนอความเห็นจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้พบว่า ในปี 2553 รพ.250 แห่ง มีปัญหาสภาพคล่อง ติดลบ 3,000-4,000 ล้านบาท ล่อง จึงต้องหากเงินมาเติม โดยดูว่ายังมีเงินใน สปสช.จากกองทุนย่อยต่างๆหรือไม่ เช่น งบส่งเสริมป้องกันโรค ถึงเวลาที่คนใน สธ.ต้องตื่นและมีเอกภาพร่วมกันว่า เราจะร่วมบริหารจัดการกองทุนนี้อย่างไร ซึ่งมีกฎหมายเปิดช่องให้ สธ.เสนอความเห็นร่วมจัดสรรงบกับทาง สปสช. ได้ ในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนสังคมต้องหันมาคิดว่าหลังมี สปสช. เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ส่วน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เงินเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับ เป็นงบเฉพาะการรักษาพยาบาล
ซึ่งปัญหางบประมาณส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขที่ถูกจำกัด ไม่สัมพันธ์กับผู้รับบริการ ทำให้ รพ.ต้องว่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวจำนวนมาก ด้วยการใช้เงินโรงพยาบาล กลายเป็นภาระงบประมาณที่ รพ.ต้องแบกรับเพิ่ม ทั้งที่เป็นสิ่งที่รัฐบาลหรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ต้องรับผิดชอบ ประกอบกับการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ การก่อสร้างอาคารใหม่ ทำให้ รพ.ต้องใช้เงินบำรุงดำเนินการ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่องบประมาณทั้งสิ้น ในวันนี้ต้องตัดสินใจว่า รัฐบาลจะแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ เพราะใน 3 ระบบประกันสุขภาพ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการ รัฐเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายทั้งหมด ดังนั้นจึงควรมีร่วมจ่ายหรือไม่ เป็นเรื่องฝ่ายการเมืองต้องตัดสินใจ.