ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็นทุกขลาภ สภาอุตฯ ระบุมติครม.ให้ปรับขึ้น 8-17 บาท/วัน
เป็นตัวเลขที่สูงและไม่ได้เป็นตามมติคณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัด แต่กลับสูงเกินอย่าง ชัยภูมิ เสนอ 3 บาทแต่ขึ้นถึง 9 บาทต่อวัน ส่วน ปัตตานี เสนอ 2 บาทแต่ขึ้นไปถึง 11 บาทต่อวัน ชี้อาจต้องปรับลดแรงงานทันทีที่ค่าแรงใหม่มีผลบังคับใช้ปีหน้า ส่วนสินค้าราคาหมูส่อขึ้นราคาอีก ก.ก.ละ 1-2 บาท ส่วนข้าว จะปรับขึ้นราคา 5-10 บาท/ถุง
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการนั้น
จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นว่ายอมรับว่ามีความเป็นห่วง แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีรายได้ดีขึ้น เห็นจากภาษีนิติบุคคล รวมถึงภาษีอื่นๆ ที่เก็บได้มากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้แรงงานยังมีรายได้ต่ำในการดำรงชีวิต ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยกันให้ความเป็นธรรม ส่วนปัญหาที่จะตามมา เราก็ต้องหาวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบา โดยในส่วนของเงินเฟ้อก็ต้องติดตามแก้ไขต่อไป แต่จะเอาประเด็นเหล่านี้มาปฏิเสธการจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานคงไม่ได้
นายกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ธ.ค. คณะทำงานปฏิรูปค่าครองชีพของประชนชน
จะนำข้อสรุปผลศึกษาโครงสร้างราคาสินค้าทั้งหมดมาเสนอให้นายกฯ พิจารณา แล้วจากนั้นประมาณวันที่ 7 ม.ค.54 รัฐบาลจะประกาศนโยบายการแก้ปัญหาค่าครองชีพทั้งหมดและใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะรวมทุกมาตรการที่เกี่ยวกับสินค้าสำคัญๆ เอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า (ตาม 5 มาตรการลดค่าครองชีพเดิม) การดูแลผู้ขาดหลักประกันทางสังคม ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบและอื่นๆ
โขกราคาข้าวสารถุง ปีหน้า-ขึ้นอีก10บาท
วันเดียวกัน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ บริหารส.อ.ท. ว่า ได้หารือถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) มีมติให้ปรับขึ้น 8-17 บาท/วันนั้น ถือเป็นตัวเลขที่ สูงกว่าที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา ดังนั้น ส.อ.ท.จะส่งหนังสือไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าแรง เพื่อขอชี้แจงถึงเหตุผล เพราะผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดสอบถามเข้ามามาก พร้อมกันนี้ อยากเรียกร้องให้กลับไปใช้ วีธีคิดค่าแรงขั้นต่ำวิธีการเดิม คือใช้หลักเกณฑ์หรือข้อเสนอของอนุกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัด ไม่ต้องผ่านอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง และรัฐบาลจะต้องดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ของแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมของเอสเอ็มอี เนื่องจากใช้แรงงานจำนวนมากที่สุด
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สายแรงงาน กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลทบทวนและชี้เแจงเหตุผลในการขึ้นค่าจ้าง เพราะไม่ได้เป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัด หากรัฐบาลขึ้นค่าแรงตามที่คณะกรรมการไตรภาคีประกาศไว้ มีแนวโน้มที่สมาชิกส.อ.ท.ปลดแรงงานออก 10-15% จากแรงงานในระบบ 5 ล้านคน หรือประมาณ 5-7.5 แสนคน เพราะผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว
นายสิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาหรือแค่ต้องการหาเสียง
ขณะนี้อุตสาหกรรมจังหวัดกำลังส่งหนังสือสอบถามข้อ เท็จจริงไปยังผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด เกี่ยวกับการพิจารณาค่าแรง เพราะค่าแรงที่ปรับขึ้นครั้งนี้มีความผิดปกติมาก เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างเพิ่มสูงเป็น 100% เช่น จ.ชัยภูมิ เสนอ 3 บาทต่อวัน แต่ขึ้นไปถึง 9 บาทต่อวัน จ.ปัตตานี เสนอ 2 บาทต่อวันแต่ขึ้นไปถึง 11 บาทต่อวัน ซึ่งจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมากส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคอีสาน อาจต้องปรับลดแรง งานทันทีที่ค่าแรงใหม่มีผลบังคับใช้ปีหน้า
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า
ในวันที่ 14 ธ.ค. กรมการค้าภายในจะเสนอรายงานผลกระทบต่อราคาสินค้าจากกรณีการปรับขึ้นค่าแรง และราคาน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน ต่อที่ประชุมคณะรัฐ มนตรี (ครม.) เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณานโยบายการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาล นอกจากนี้ จะนำเสนอรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาราคาให้ครม.พิจารณาด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร โดย เฉพาะสินค้ากลุ่มที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประ เทศ เช่น แบตเตอรี่ สายไฟฟ้า เหล็กแผ่นและเหล็กโครงสร้าง และปุ๋ยเคมี ที่ประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น
นางวัชรี กล่าวว่า สำหรับสินค้าปุ๋ยซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรใช้นั้นหากรัฐบาลไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคา จะต้องหามาตรการเสริมเพื่อป้อง กันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน
โดยรัฐบาลอาจจะต้องจัดทำโครงการปุ๋ยธงฟ้า ด้วยการขอความร่วมมือจัดสรรปุ๋ยเคมีบางส่วนจากผู้ผลิตนำมาขายในโครงการปุ๋ยธงฟ้าราคาถูกแทน ส่วนการปรับราคาน้ำมันปาล์มขวดนั้นขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งในวันที่ 16 ธ.ค. นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ จะเชิญผู้ประกอบการโรงสกัด โรง กลั่น และชาวสวนปาล์มมาหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์ปริมาณและราคาอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเตรียมปรับขึ้นราคาหมูหน้าฟาร์มอีก ก.ก.ละ 1-2 บาท ในช่วงปลายปีนี้
โดยอ้างว่าความต้องการสูงขึ้นนั้น นางวัชรี กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการขายในราคาที่ขาดทุนอยู่ ตัวเลขต้น ทุนการเลี้ยงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปัจจุบันอยู่ที่ ก.ก.ละ 56-57 บาท แต่ปัจจุบันฟาร์มขายราคาเพียง 53-54 บาทเท่านั้น หากภาวะตลาดเอื้อให้ปรับราคาได้ ผู้เลี้ยงอาจจะขยับราคาขึ้นได้ แต่ต้องไม่สูงเกินความจำเป็น
นางวัชรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ร้านจำหน่ายอาหารภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงปรับขึ้นราคาจำนวนมาก
ดังนั้น กรมเตรียมประสานไปยังสมาคมภัตตาคารไทยและร้านมิตรธงฟ้า ให้ขยายจำนวนร้านอาหารพันธมิตรธงฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังได้รับการร้องเรียนจากชมรมร้านอาหารต่างๆ ว่าไม่สามารถหาซื้อน้ำตาลทรายเพื่อนำมาประกอบอาหารและขนมได้ รวมทั้งมีราคาแพง ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างประสานเพื่อขอรับทราบปริมาณความต้องการ โดยกรมเตรียมจัดส่งน้ำตาลทรายธงฟ้าไปจำหน่ายให้ในราคาถูก ซึ่งขณะนี้มีน้ำตาลทรายอยู่ในสต๊อกจำนวน 1.9 แสนกระสอบ
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายข้าวมาบุญครอง
เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ข้าวถุงในตลาดขณะนี้ ภาพรวมราคาข้าวถุงมีการปรับขึ้น 1-2 บาท/ก.ก. แต่สำหรับข้าวมาบุญครอง ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นราคา แต่คาดว่าต้นปี 2554 อาจมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาโดยเฉพาะข้าวขาว ซึ่งอาจจะปรับขึ้นไม่เกิน 5-10 บาท/ถุง สำหรับขนาดบรรจุ 5 ก.ก. สำหรับเหตุผลที่อาจจะมีแผนปรับขึ้นราคาข้าวขาวในช่วงต้นปี 2554 นั้น เนื่องจากวัตถุดิบขาดแคลน และได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ภาพรวมก็ยังสูงขึ้นไม่มาก ซึ่งปัจจุบันข้าวขาวถุง 5 ก.ก. ขายในตลาดประมาณ 110-130 บาท สำหรับข้าวขาวมาบุญครองขายอยู่ที่ประมาณ 120-130 บาท ในต้นปี 2554 เป็นเพียงแนวโน้มที่คาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้น แต่จะดูต้นทุนวัตถุดิบว่าจะมีสถานการณ์เป็นอย่าง ไร สำหรับข้าวหอมมะลิขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้น ปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิถุง 5 ก.ก. ขายราคาประมาณ 160-200 บาท สำหรับข้าวหอมมะลิมาบุญครองขายที่ราคา 185-190 บาท