วันที่ 13 ธ.ค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค (คร.) ร่วมกับเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมการขนส่งทางบก
แถลงข่าว “กิจกรรมรณรงค์ทศวรรษความปลอดภัย หมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” โดยมี นางพรรณสิริ กลุนาถศิริ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ทั้งนี้ นางพรรณสิริ กล่าวว่า เนื่องจากที่ปี 2554-2563 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และประเทศสมาชิกกว่า 150 ประเทศได้ตั้งเป้าการลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เหลือร้อยละ 50 ภายในปี 2563 นั้น ในส่วนของประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ต่ำกว่า 10 คน ต่อจำนวนประชากรแสนคน โดยมาตรการสำคัญคือการเร่งส่งเสริมให้ผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยให้ได้ 100% ซึ่งจะเร่งรณรงค์ในกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างก่อน โดยจะเน้นความสะอาดเพื่อให้ผู้โดยสารอยากใส่มากขึ้น
“ทั้งนี้เพื่อสุขภาวะที่ดีและเพื่อความสะอาดและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการจักยานยนต์รับจ้าง สธ.จะแจกหมวกรองใน 3 แสนใบ ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครศรีธรรมราช และภูเก็ต และสธ.คาดว่าจะเร่งรณรงค์ลดการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุให้ได้โดยเร็วภายใน 5 ปี เพื่อให้คนไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น” นางพรรณสิริ กล่าว
รมช.สธ. กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยถือว่าสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุยังน่าเป็นห่วง โดยในปี 2552 ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา
พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนจำนวนถึง 11,751 คน เฉลี่ยวันละ 30 คน คิดเป็นอัตราตาย 18 รายต่อจำนวนประชากรแสนคน ขณะที่ระดับสากลมีผู้เสียชีวิตจากกรณีเดียวกันไม่ถึง 10 คนต่อจำนวนประชากรแสนคน โดย 3 ใน 4 เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยถึง 6,000 ราย ส่วนประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวต้อง เข้ารับการรักษาปีละกว่า 7 แสนราย คิดเป็นมูลค่าในการรักษาพยาบาลใช้จ่ายเป็นเงิน 2,000 กว่าล้านบาท สำหรับบทเรียนการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม ซึ่งรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน พบมีคนสวมหมวกนิรภัยมากขึ้นถึงร้อยละ 95 สามารถลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 47% ลดผู้เสียชีวิตถึง 52%