เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิทเยนทร์ มุตตามระ รอง ผอ.ศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.)
แถลงว่า ทาง ศชอ. ได้รับทราบรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องมีการเฝ้าระวังพิเศษเนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา กระบี่ ตรัง และสตูล แต่พื้นที่ที่ต้องมีการเตือนภัยและเตรียมอพยพประชาชน คือ พื้นที่บริเวณรอบเขาบรรทัด อ.ป่าพะยอม ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ กงหรา และตะโหมด จ.พัทลุง และพื้นที่บริเวณเขาหลวง อ.ร่อนพิบูลย์ นบพิตำ ลานสกา และเมือง จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากอาจจะเกิดเหตุดินโคลนถล่มได้ นอกจากนั้นยังพบว่า มีกลุ่มเมฆฝนขนาดใหญ่กำลังพัดเข้าสู่จ.นครศรีธรรมราช ภายใน 48 ชม. นี้ จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทาง ศชอ. จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เตรียม ความพร้อมในการอพยพประชาชนหากเกิดเหตุดินโคลนถล่ม
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ที่ จ.พัทลุง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ได้ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบในหลายอำเภอ
โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เขาชัยสน ป่าพะยอม บางแก้ว ควนขนุน และเมือง ถูกน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 1-1.20 เมตร ผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดได้สั่งปิดโรงเรียนแล้ว 22 แห่ง ด้าน จ.นครศรีธรรมราช หลังจากที่ฝนตกติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 3 วันส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอีกครั้ง ในพื้นที่ อ.พระพรหม เมือง ร่อนพิบูลย์ พรหมคีรี และลานสกา ขณะที่ นายทศพล งานไพโรจน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่าได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านชุมชนซอย 7 เขตเทศบาลเมืองท่าข้าม ว่าข้าวสารที่ได้รับแจกจากโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นำมาหุงแล้วมีกลิ่นเหม็นและมีรสเปรี้ยวไม่สามารถรับประทานได้ โดยทางเทศบาลได้จัดเก็บตัวอย่างและแจ้ง ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการรับผิดชอบต่อไป
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีชาวบ้าน หมู่ 2 ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 80 คน
ได้เดินทางมารวมตัวกันประท้วงหน้าที่ว่าการ อ.พระนครศรีอยุธยาหลังบ้านเรือนถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีรายชื่อรับเงินชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท ถึง 258 ครัวเรือน ด้าน นายเผด็จ แนบเนียน นอภ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่ารายชื่อที่ตกหล่น ทางอำเภอจะตรวจสอบให้โดยด่วน คาดว่าไม่มีปัญหาจะได้รับเงินชดเชยครบทุกครัวเรือนสร้างความพอใจให้กับชาวบ้านสลายตัวไปในที่สุด.