โคราชพบฟอสซิลจระเข้โบราณ พันธุ์ใหม่โลก อายุ100 ล้านปี

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครราชสีมา รายงานเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ว่า ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุลนักธรณีวิทยา

ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้ค้นพบซากฟอสซิลจระเข้โบราณ อายุกว่า 100 ล้านปี ที่บริเวณไร่ข้าวโพดภายในหมู่บ้านสะพานหิน หมู่ที่ 8 ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อประมาณช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา  และจากการตรวจสอบพิสูจน์อย่างเป็นทางการ โดยดร.คมสร เลาห์ประเสริฐ และคณะจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าจระเข้ดังกล่าวถือเป็นจระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลก เนื่องจากยังไม่เคยมีการค้นพบจระเข้สายพันธุ์นี้มาก่อน จนได้รับการตีพิมพ์รับรองลงในหนังสือบทความงานวิจัยทางธรณีวิทยา ชื่อ Late Palaeozoic and Mesozoic Ecosystems in SE Asia ของ The Geological Society of London ประเทศอังกฤษ  และได้มีการตั้งชื่อจระเข้สายพันธุ์ใหม่นี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งใช้นามสกุลของ ผศ.ดร.ประเทืองฯ ผู้ค้นพบเพื่อให้เกียรติในฐานะที่เป็นผู้ค้นพบจระเข้สายพันธุ์นี้  ว่า “โคราโตซูคัส จิตสกุไล”  และปัจจุบันกระดูกฟอสซิลจระเข้ “โคราโตซูคัส จิตสกุไล”   ถูกเก็บรักษาไว้ที่คลังตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ

ผศ.ดร.ประเทือง ผู้ค้นพบฟอสซิลกระโหลกจระเข้ “โคราโตซูคัส จิตสกุไล” เปิดเผยว่า ตัวอย่างฟอสซิลจระเข้โบราณอายุ 100 ล้านปี

ถูกขุดค้นพบที่บ้านสะพานหิน หมู่ที่ 8  ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อประมาณปลายปี 2548 ที่ผ่านมา จากนั้นได้มอบให้ดร.คมสร เลาห์ประเสริฐ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำชิ้นส่วนไปทำการศึกษาจนทราบว่าเป็นกะโหลกจระเข้สายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบ โดยชิ้นส่วนที่พบเป็นหัวกะโหลกมีลักษณะแบน ขากรรไกรผอมเรียว ฟันมีขนาดเท่ากันหรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใกล้เคียงกัน จากลักษณะของฟันคาดว่าน่าจะกินพวกปลาหรือสัตว์น้ำเป็นอาหารหลัก ซึ่งถือว่าฟอสซิลกระโหลกศีรษะจระเข้ที่ค้นพบนี้มีความสมบูรณ์อย่างมาก  และจากการวาดภาพจระเข้โบราณจำลองจากชิ้นส่วนหัวกะโหลก พบว่าจระเข้โบราณดังกล่าว เป็นจระเข้น้ำจืด ขนาดเล็ก หัวแบน ลำตัวยาวไม่เกิน 1.5 เมตร กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร จัดเป็นเชื้อสายไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการสูง เนื่องจากรูเปิดที่เพดานปากอยู่ประมาณกึ่งกลางเพดานปาก (รุ่นเก่ากว่า รูเพดานจะค่อนมาทางปากมากว่า)  อยู่ในปลายยุคมีโซโซอิก หรือตอนต้นยุคครีเทเซียส ประมาณ 100 ล้านปีก่อน  ซี่งถือเป็นยุคสุดท้ายของยุคไดโนเสาร์ ก่อนจะมีวิวัฒนาการไปเป็นกลุ่มจระเข้ในปัจจุบัน (Eusuchia) จัดเป็นตัวอย่างที่เชื่อมระหว่างจระเข้โบราณกับลูกหลานจระเข้ปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นจระเข้ตัวแรกในหมวดหินโคกกรวด และเป็นจระเข้โบราณชนิดที่ 4 ของประเทศไทยที่พบในกลุ่มหินโคราช

 ผู้ค้นพบฟอสซิลกระโหลกจระเข้ “โคราโตซูคัส จิตสกุไล” กล่าวอีกว่า

จากการค้นพบตัวอย่างฟอสซิลจระเข้โบราณชื่อโคราโตซูคัส จินตะสกุไล บ่งบอกถึงสภาพพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายของสัตว์ชนิดต่างๆ ในยุคไดโนเสาร์ นอกจากจระเข้อายุ 100 ล้านปีแล้ว ยังมีฟอสซิลของสัตว์น้ำอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ฉลามน้ำจืด และปลา รวมถึงยังมีสัตว์จำพวกอื่นในยุคมีโซโซอิก มากกว่า 10 จำพวก  ซึ่งขณะนี้ยังมีการสำรวจขุดค้นและศึกษาตัวอย่างต้นแบบเพื่อจำแนกชนิดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง   นอกจากนี้จากการค้นพบดังกล่าวยังสนับสนุนทฤษฎีการเคลื่อนตัวของทวีป ทำให้ทราบว่าก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเคยอยู่ติดกับประเทศจีน เนื่องจากมีการค้นพบซากฟอสซิลจระเข้และสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่ร่วมยุคกันเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน ก่อนที่เปลือกโลกจะเคลื่อนตัวออกจากกันจนเป็นอยู่อย่างเช่นปัจจุบัน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์