จากกรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเขตปทุมวัน และสน.ปทุมวัน ร่วมกันดำเนินการโครงการจัดระเบียบทางเท้าโดยรอบสยามสแควร์ ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเท้าเริ่มจากฝั่งถนนพระรามที่ 1 ช่วงบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามไปจนถึงโรงหนังสกาล่า ด้วยการนำกระถางต้นไม้มาตกแต่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างเต็มที่นั้น
ผู้ค้าแผงลอยสยามสแควร์รายหนึ่ง เปิดเผยกับ"มติชนออนไลน์" ว่า หลายคืนที่ผ่านมา ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยยังคงได้จำหน่ายสินค้าบนทางเท้าได้ โดยเลื่อนการตั้งแผงลอยมาตั้งแต่สยามสแควร์ซอย 4 ผ่านหน้าธนาคารกรุงเทพ จนมาถึงหัวถนนอังรีดูนังต์ แทนพื้นที่เดิมที่วางขายตั้งแต่สยามสแควร์ซอย 2 จนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 26 และวันเสาร์ที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ยังคงมีผู้ชายอ้างตัวเป็นเด็กของมาเฟียนอกระบบเดินเก็บเงินค่าแผง แผงละ 150 บาทต่อวัน นอกจากนี้ผู้ชายคนดังกล่าวบอกให้ขายได้ตั้งแต่ช่วงเย็น ไม่ต้องรอเวลาถึงช่วงหัวค่ำเพื่อให้ร้านค้าในสยามสแควร์เก็บร้านก่อน
"พอเรามาขายตั้งแต่เย็น อาจทำให้ผู้ค้าในสยามฯ ไม่พอใจ ไปแจ้งความที่สน.ปทุมวัน จากนั้นวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ จุฬาฯ อาจรู้เรื่องนี้ จึงได้ออกใบปลิวใจความว่า ขอให้ผู้ค้ายุติการค้าขาย และอย่าหลงชื่อผู้แอบอ้างและเรียกรับเงิน มิฉะนั้นอาจสูญเสียทั้งเงินและถูกจับดำเนินคดีได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเดิมค่าที่แผงลอยรอบสยามฯ จะมีผู้ชายเดินเก็บทุก 15 วัน คือวันที่ 12 และ 25 แบ่งจ่ายครั้งละ 1,500 บาท เป็นเงิน 3,000 บาท ตกวันละ 100 บาท ดังนั้น ค่าที่ที่จัดเก็บรอบใหม่ 150 บาท สูงกว่าค่าที่เดิมวันละ 50 บาท หรือเดือนละ 1,500 บาท
เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เปิดรับลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อจัดหาพื้นที่"อาคารจตุจักรสแควร์" รองรับในการขายสินค้า แม่ค้าคนดังกล่าวกล่าวว่า ผู้ค้าแผงลอยทุกคนก็ไปลงทะเบียนกัน แต่ไม่มีใครย้ายไปขาย เพราะเห็นว่าที่ดังกล่าวคงไม่มีลูกค้าเดิน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 08.30 น. วันที่ 1 ธ.ค. ผู้ไกล่เกลี่ยสภาทนายความได้นัดตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ตัวแทนสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ และผู้ว่าราชการราชการกรุงเทพฯ หรือตัวแทน มาไกล่เกลี่ยถึงปัญหาการจัดระเบียบแผงลอยรอบสยามฯ ดังกล่าวด้วย