ปธ.มูลนิธิเตือนภัยพิบัติฯยกสถิติ59ปีแปซิฟิคจะเกิดพายุไม่ต่ำ9ลูก "สึนามิ"เกิดแน่แต่ไม่รู้เวลาไหน เหตุคราวก่อนเปลือกโลกเคลื่อนแค่ครึ่งเดียว
ดอกเตอร์สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมซ้อมแผนรับมือพิบัติภัยทางน้ำในวันที่ 24 พ.ย.2553 ว่า แม้ประเทศไทยจะเกิดพิบัติภัยรุนแรงมาแล้วทั่วทุกภาค แต่จากข้อมูลสถิติต่างๆ พบว่าเดือนธันวาคมนี้ยังเป็นช่วงที่ยังจะต้องเฝ้าระวังอันตรายพิบัติภัยต่อไป โดยเฉพาะภัยจากพายุ
เนื่องจากยังคงได้อิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานิญา จะส่งผลให้เกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิค
จากสถิติจัดเก็บย้อนหลังไป 59 ปีคือช่วงระหว่างปี พ.ศ.2494-2552 ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิคจะมีพายุเกิดขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 9 ลูก ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีพายุลูกใดบ้างพัดเข้าประเทศไทย หากโชคดีอาจจะไม่มี แต่หากโชคร้ายอาจจะมีเพียงแค่ 1-2 ลูกแต่ก็แย่แล้ว อย่างเช่นล่าสุดพายุพัดถล่มภาคใต้แค่เพียงลูกเดียวก็เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
"สาเหตุที่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา คือปัญหาระบบการเตือนภัยที่ทุกฝ่ายต่างหันไปโทษอุปกรณ์ไม่พร้อม แต่ผมมองว่าเกิดปัญหาที่คน และเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ที่ไม่แจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที เมื่อเกิดเหตุการณ์พิบัติภัยทั้งที่ระบบการเตือนภัยมีมาก ทั้งระบบหลักและระบบสำรอง อาทิ การใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ การแจ้งผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แจ้งผ่านระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ การแจ้งผ่านเว็บไซต์ การแจ้งผ่านหอเตือนภัย แต่ที่ผ่านมาไม่ปรากฏมีการแจ้งเตือน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลชัดเจน และไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน"
เขายังกล่าวถึงกระแสข่าวการเกิดสึนามิในภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันช่วงปลายปีนี้ว่า
พูดเสมอว่าไม่มีเทคโนโลยีใดระบุวันเวลาการเกิดสึนามิได้อย่างชัดเจน แต่ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ภาคใต้รวมถึงจ.ระนองจะเกิดสึนามิอีกครั้ง ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงจะประสบความเสียหายระลอกใหม่ โดยสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา เป็นห่วงมากคือรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกในแนวของรอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุยพาดผ่าน จ.สุราษฏร์และนครศรีธรรมราช มีความเสี่ยงจะเกิดการเลื่อนอีกครั้ง เนื่องจากในปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์สึนามิรอยเลื่อนแนวดังกล่าวมีการเลื่อนเพียงครึ่งเดียวจากเกาะนิโคบาถึงเกาะสุมาตร แต่ส่วนที่พาดผ่านมาถึงประเทศไทยพื้นที่ภาคใต้ยังไม่เลื่อน
รวมถึงปัจจัยการระเบิดของภูเขาไฟในอินโดนีเซีย ก็มีผลต่อการสั่นสะเทือนของแผ่นเปลือกโลกอาจส่งผลกระทบต่อแนวรอยเลื่อน
จนนำมาซึ่งการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้อีก ส่วนจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วอย่างไรนั้น ไม่มีใครสามารถระบุวันเวลาชัดเจนได้ แต่ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวทั้งของไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น ต่างมีความเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ และมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และหากเกิดระดับความรุนแรงจะสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากจุดที่เกิดตรงแนวรอยเลื่อนเข้ามาใกล้และติดกับชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ซึ่งน่ากลัวมาก
"จากเหตุการณ์และบทเรียนที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องลงมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการเตือนภัย ปัจจุบันยังมีปัญหาทั้งอุปกรณ์ บุคคลากร และโครงสร้างการทำงาน แต่หากระบบไม่พร้อม ทางแก้อย่างหนึ่งที่ทำได้คือการใช้วิธีการแบบชาวเล คือสังเกตุความผิดปกติของแผ่นดินหากเกิดการสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้ และเห็นน้ำทะเลลดลงผิดปกติจากน้ำขึ้น น้ำลง ก็ให้รีบหนีขึ้นที่สูงทันทีก็จะสามารถเอาชีวิตให้ปลอดภัย" ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าว