อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า สำหรับคลินิกที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหากแพทย์เป็นคนทำแท้งจะและถูกจับได้จะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีอาญา
คือ ในกรณีที่ผู้หญิงทำแท้งไม่เสียชีวิตมีโทษจุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้หญิงที่ไปทำแท้งตายมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้จะมีการสั่งปิดคลินิกที่เปิดให้บริการ และส่งให้แพทยสภาดำเนินการเอาผิดจริยธรรมแพทย์ที่ให้บริการด้วย คือถ้าแพทย์เป็นคนทำเราจะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดแน่นอน แต่อย่างว่าการทำแท้งเถื่อนมักจะไม่ทำในคลินิกทั่วไป แต่จะทำในสถานที่ส่วนบุคคล ดังนั้นการจะเข้าไปตรวจสอบทำได้ยาก ยกเว้นมีการแจ้งเบาะแสและขอหมายศาลเข้าไป ซึ่งหากพบว่ามีการทำแท้งเถื่อนจริง จะดำเนินการใน 2 ข้อหา คือ 1.เปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเปิดสถานพยาบาลเถื่อนมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ หมอเถื่อน มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับเกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.กองอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
การทำแท้งไม่ได้เกิดเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้นแต่วัยทำงานแล้วได้เช่นกัน โดยอัตราส่วนที่ประมาณการคือ อายุต่ำกว่า 25 ปีมีประมาณ 60% ส่วนอายุ 25 ปีขึ้นไปมีประมาณ 40% ซึ่งกรณีวัยทำงานนั้นอาจจะมาจากปัจจัยการว่างงาน ความไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ ไม่ได้วางแผนการตั้งครรค์ หรือบางคนใช้ น.ส.อาจจะไม่กล้าไปปรึกษาปัญหาครอบครัว ทำให้นำไปสู่การทำแท้งในที่สุด
นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการทำแท้งจริง ๆนั้นไม่มีใครรู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่จากสถิติที่ไป รพ.พบประมาณ 1.1 หมื่นรายต่อปี
โดยในจำนวนนี้รวมถึงคนที่ทำแท้งแล้วตกเลือดไป รพ. คนที่ทำแท้งถูกกฎหมาย ส่วนการทำแท้งเถื่อนจากตัวเลขที่พูดคุยกันคาดว่าน่าจะมีประมาณ 1.5-2 แสนราย ซึ่งตนเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทุกกระทรวงต้องทำงานร่วมกัน เช่น กระทรวงศึกษาให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสริมสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งอบอุ่น
เมื่อถามถึงร่าง พ.ร.บ.การอนามัยเจริญพันธุ์ พ.ศ. ที่มีสาระสำคัญให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ไปเรียนหนังสือได้นั้น นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันอังคารที่ 23 พ.ย. จากนั้นก็จะมีการส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนที่จะมีการเสนอเข้าสู่สภาฯเพื่อพิจารณาต่อไป.