เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบมาจากการปิดเขื่อนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบลำน้ำโขงแล้ว พบว่าระดับน้ำโขงลดลงจริง เฉลี่ยประมาณ 5-10 เซนติเมตร แต่ยังไม่ได้ลดลงเทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ยังคงมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ของระดับน้ำโขงอาจจะลดลงมากกว่าปีที่แล้วได้
"กรณีความแห้งแล้งนี้ น่าจะเกิดจากสภาพภูมิอากาศมากกว่าการปิดเขื่อนจากจีน ซึ่งได้ส่งหนังสือเพื่อสอบถามข้อมูลผ่านทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ไปยังคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ของจีนแล้ว คาดว่าจะได้ทราบผลสรุปในเร็วๆ นี้ ว่า การลดลงของน้ำโขงนั้นมีผลมาจากการปิดเขื่อนจากจีนหรือไม่" นายจตุพรกล่าว และว่า ได้สั่งการให้เข้าไปตรวจสอบที่ระดับลำน้ำโขงอีกครั้งวันที่ 23 พฤศจิกายน
ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการประวัติศาสตร์ นิเวศ วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า ภาคประชาชนพยายามเสนอรัฐบาลไทยและจีน ให้หามาตรการแก้ปัญหาน้ำมาแล้ว โดยเฉพาะไม่ควรสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอีก ส่วนที่กำลังสร้างอยู่ต้องยุติและศึกษาผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างแล้ว
"รัฐบาลควรทำหน้าที่ผู้ประสานงานระหว่างประเทศ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และควรยอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลังการสร้างเขื่อนในจีน พร้อมทั้งหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ตื่นเต้นอย่างขาดสติ" นายสมเกียรติกล่าว และว่า
ข่าวน้ำโขงแห้งเกิดขึ้นทั้งฤดูแล้งและน้ำหลากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
หลังเขื่อนเสี้ยวหวานที่อยู่ตอนบนของประเทศจีน กักเก็บน้ำ 14,560 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดทางตอนบนสร้างเสร็จและกักเก็บน้ำ คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์ปัญหาความแห้งแล้งท้ายเขื่อน