พิษน้ำท่วมเสียหายแสนไร่ ธกส.ให้กู้สวนยางรายละ2แสน

ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจพิษน้ำท่วม ใต้ฝุ่นถล่มใต้

ทำสวนยางเสียหายแสนไร่ พัทลุงหนักสุด 6 หมื่นไร่ ตามด้วยสงขลา ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. เตรียมให้สินเชื่อเพื่อปลูกใหม่ รายละ 2 แสน ดอกเบี้ยผ่อนปรน  พร้อมระยะปลอดหนี้ 6 ปี นานกว่าลูกค้าน้ำท่วมภาคอื่น ชี้เหตุยางใช้เวลาปลูกนาน

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า

จากการตรวจสอบความเสียหายจากอุทกภัยและวาตภัยของชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของสาขา พบว่าในจังหวัดพัทลุงสวนยางได้รับความเสียหายมากที่สุดประมาณ 6 หมื่นไร่ และที่สงขลาประมาณ 3 หมื่นไร่ นอกนั้นกระจายในจังหวัดยะลา ตรังและปัตตานี รวมกันประมาณ 1 หมื่นกว่าไร่ โดยรวมแล้วพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมีประมาณ 1 แสนไร่ ที่รัฐบาลอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ ซึ่งส่วนนี้เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.ประมาณ 70-80% คิดเป็นสินเชื่อประมาณ 2,000 ล้านบาท

สำหรับการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรชาวสวนยางนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.)

มีมติให้จ่ายชดเชยทุกรายเท่าเทียมกันทั้งกลุ่มที่เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (กสย.) และเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือใช้เงินทุนของตัวเองในการลงทุน โดยเห็นด้วยกับแนวทางการจ่ายชดเชยเบื้องต้นไร่ละ 1.7 หมื่นบาท เพราะต้นทุนเงินกู้ต่อไร่ก็อยู่ที่ 8 พันถึง 1 หมื่นบาทต่อไร่อยู่แล้ว และการปลูกยางพาราต้องใช้เวลา 6-7 ปี จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

"การจ่ายเงินชดเชยอัตราไร่ละ 1.7 หมื่นบาทต่อไร่ จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีเงินทุนส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกยางใหม่แต่คงไม่เพียงพอ โดยส่วนนี้ ธ.ก.ส.จะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้ด้วย" นายลักษณ์กล่าว


สำหรับมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูลูกค้าของธนาคารนั้นอยู่ระหว่างหารือความเหมาะสม

เพราะอาจใช้มาตรการเดียวกับพืชชนิดอื่นอย่างนาข้าวหรือพืชสวนเสียหายไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาเพราะหลังน้ำท่วมไม่ใช่ว่าจะสามารถลงต้นกล้ายางได้ทันที ต้องรอช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนปีหน้า โดยอาจมีระยะเวลาพักชำระหนี้นานกว่า 3 ปี ที่ช่วยเหลือผู้ปลูกข้าว เช่น อาจปลอดระยะเวลาชำระคืนเงินต้น 6 ปี และปลอดดอกเบี้ย 3-4 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเกษตรกรอาจปลูกพืชชนิดอื่นหารายได้เสริมไปด้วยทำให้มีเงินมาชำระดอกเบี้ยได้ 

ส่วนวงเงินกู้ก็อาจจะพิจารณาให้มากกว่าจากที่กำหนดรายละ 1 แสนบาท

โดยอาจให้รายละ 1.5-2 แสนบาท  เพราะเกษตรกรรายย่อยเฉลี่ยมีพื้นที่ปลูกสวนยางประมาณ 10-15 ไร่เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยอาจจะอยู่ในระดับเดียวกันคือเอ็มแอลอาร์ลบ 3% ซึ่งส่วนของสวนยางพารา ธ.ก.ส.จะเสนอให้ทำเป็นโครงการพิเศษดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะ เพราะต้องประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยพัฒนากล้ายางและกระทรวงเกษตรฯด้วย ในการให้ความรู้และจัดหากล้ายางเตรียมให้ชาวสวนหลังน้ำลด รวมถึงจูงใจให้เลิกปลูกยางในพื้นที่ไม่ควรปลูก เช่น ที่นาเพราะทำให้ต้นยางได้รับความเสียหายง่าย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์