เอแบคโพลล์ สำรวจวันลอยกระทง พบร้อยละ 74.4 ต้องการอธิษฐานให้สังคมไทยมีความรักสามัคคี ร้อยละ 62.2 ขอให้เศรษฐกิจและรายได้ดี
ดร.นพดล กรรณิกา ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ สถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง วันลอยกระทงกับคำอธิษฐานของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,738 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา
พบว่าประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ไม่ทราบว่าวันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่เท่าไหร่หรือบอกว่าทราบแต่บอกผิด
ในขณะที่ร้อยละ 43.9 ระบุว่าทราบและตอบได้ถูกต้อง ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มเยาวชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.5 ของกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ทราบว่าลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่เท่าไหร่ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.4 ไม่ทราบว่ายุคสมัยใดที่มีประเพณีวันลอยกระทงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 16.6 ทราบ โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ก็ไม่ทราบว่าประเพณีวันลอยกระทงเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคสมัยใด เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ทุกสาขาอาชีพที่ไม่ทราบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้แก่สังคมไทยเป็นอันดับแรก
ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.4 ขอความรักความสามัคคีของคนในชาติ ร้อยละ 62.2 ขอให้เศรษฐกิจและรายได้ดีขึ้น ร้อยละ 42.0 ขอให้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมลดน้อยลง ร้อยละ 38.6 ขอให้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นน้อยลง และรองๆ ลงไปคือ ขอให้มีนักการเมืองที่ดี ขอให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเสาหลักของประเทศ ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่ และขอให้หยุดใช้สภาวะฉุกเฉิน ตามลำดับ
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่อย่างน้อยสองประการ
คือ ประการแรก ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องของประเพณีวันลอยกระทงและแหล่งกำเนิดเชิงประวัติศาสตร์ ประการที่สอง คือคำอธิษฐานของประชาชนเป็นที่น่าพิจารณาเรื่องของ การขอความรักความสามัคคีของคนในชาติ ขอเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และขอให้ปัญหาทุจริต การโกงต่างๆ ลดน้อยลง แต่ขอให้มีนักการเมืองที่ดีเพิ่มมากขึ้น ที่น่าพิจารณาอยู่ตรงที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความรักความสามัคคีของคนในชาติมากกว่าเรื่องปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ น่าจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า เสียงของประชาชนทั่วไปไม่ใช่เสียงปกติธรรมดา
เพราะแม้แต่ชาวบ้านทั่วไปยังรู้เห็นแจ้งได้ว่า หากประเทศชาติขาดเอกภาพของคนในชาติแล้ว
ประเทศชาติจะเดินหน้าก้าวต่อไปไม่ไหวอาจหยุดชะงักหรือถอดยหลัง และประชาชนคนในชาติเองก็จะเดือดร้อน ดังนั้นในจังหวะเวลาที่เสียงประชาชนส่วนใหญ่มาในทิศทางนี้และเป็นการ “ขอ” ที่ไม่ได้สั่นคลอนต่อเสถียรภาพความมั่นคงและผิดศีลธรรมใดๆ จึงน่าจะหาแนวทางช่วยกันทำให้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการร้องขอของประชาชนครั้งนี้ด้วย