"มา จุ๊บุ๊ๆ มิรุๆ อิ๊ๆ อุๆ เหอๆ เซงแว้ๆ จังเลยๆ มา จุ๊บุ๊ๆ มิรุๆ อิ๊ๆ อุๆ เหอๆ จัดได้นะแสดภาษาใคร คิดมาจากไหนเหมือนว่าไม่มีความหมายที่แท้มันแค่เพียงคำใหม่ เพื่อสื่อสารเหมือนที่เมื่อวานเราเขียนผ่านจดหมายมันแค่เพียงภาษาก็เท่านั้นเอง" ท่อนฮุคของเพลง อุคริ จุ๊บุ๊ หุหุ จากอัลบั้มบุ้ง ของเสลอ ดังแว่วเข้ามาประกอบกับการอ่านคอมเม้นท์ "เวทีความคิด" หัวข้อ "ไตรรงค์" ห่วงภาษาไทยวิบัติ! สั่งห้ามใช้คำ "ชิมิ" คุณคิดว่ามีเหตุผลหรือไม่?
"การใช้ภาษาไทย" เป็นเรื่องที่ตื่นตัวกันทุกปี รณรงค์กันมายาวนานมีการนำเสนอข่าวเพื่อ "อัพเดต"ศัพท์วัยรุ่นมาตั้งแต่ "จ๊าบ" จนถึงทุกวันนี้ คำที่เคยใช้ก็ถูกลดทอน ปรับเปลี่ยนไป ผ่านช่องทางที่เพิ่มขึ้น จากแค่คำพูดก็เริ่มเขียน จากปากกาก็เริ่มจับเมาส์ และพิมพ์คำเหล่านั้นลงคอมพิวเตอร์ ผ่านช่องทางอย่างอินเตอร์เน็ตไปโผล่ตามเว็บไซต์ชื่อดัง แม้กระทั่งโซเชียล เน็ตเวิร์คสุดฮิต ทั้งไฮไฟท์ (Hi5) เฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Tweeter)
ก่อนหน้านี้ ก็มีการรณรงค์เลิกใช้คำว่า เธอว์หรือเทอว์ ตามเว็บไซต์ดังตั้งกระทู้กระทุ้งความคิดเด็กวัยรุ่น จริงๆ แล้วคำนี้คุ้นตาสำหรับแฟนคลับ "drama-addict" ที่ทำให้คำว่า เธอว์ ฮิตสุดๆ และยังผุดคำใหม่ๆ ขึ้นมาในกระทู้เรื่อยๆ อย่าเช่นคำว่า "ดราม่า"ตามชื่อเว็บที่ให้ความหมายว่า แสดงอารมณ์อย่างโอเวอร์เกินจริงเหมือนเล่นละคร
ส่วนละครดังอย่าง "ระบำดวงดาว" ก็มีคำใหม่ที่เกิดจากตัวละคร เช่น "หวาน หวาน" ขนาดที่พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ผู้รับบทเองยังเคยพูดเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของตัวละครที่มีคาแรคเตอร์ "แอ๊บแบ๊ว" เข้าใจกันง่ายๆ คือ ทำหน้าตาและกิริยาไร้เดียงสา นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มการแพร่หลายของคำว่า "ซุป′ตาร์"อีก
คำที่ถูกตัดทอนมาหรือเปลี่ยนตัวสะกดบางตัวนอกจาก ชิมิ (ใช่ไหม) เคร (โอเค) ป่ะล่ะ (หรือเปล่า) จุ๊บุ๊ (จุ๊บๆ) เริ่ด (เลิศเลอ) หรา (เหรอ) อาราย (อะไร) การเลียนเสียงหัวเราะที่เคยมีเพียง "ฮ่าๆ" ก็เพิ่มเติมมาเป็น "คริคริ อุอุ หุหุ อุคริ เหอๆ" หรือการใส่ ว แหวน เพื่อเน้นคำ เช่น แรว๊งส์ มวาก บางคำก็เหมือนจงใจที่จะเปลี่ยนรูป หั้ย (ให้) มั้ย (ไหม) ช้านหรือชั้น (ฉัน) หรือเอาจริงดิ จริงดิ ที่ไม่ใช่คำถามแต่เป็นการเน้นย้ำสิ่งที่พูดมา