นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงกรณีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี
เปิดเผยในที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ 9/2553 เป็นห่วงวัฒนธรรมมีความเสื่อมถอยมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ภาษาผ่านเพลง ละคร ภาพยนตร์ มารยาทของวัยรุ่น โดยใช้คำที่ดูไม่เหมาะสม บางคำไม่ทราบว่าเป็นภาษาไทยหรือต่างประเทศ เช่นคำว่า “ชิมิ” ว่า เรื่องภาษาต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น ภาษาที่เป็นทางการ กับไม่เป็นทางการ ภาษาที่เป็นทางการก็น่าเป็นห่วง เวลานี้อย่าว่าแต่พูด อ่านเลย การเขียนก็น่าเป็นห่วง เรียกว่าลายมือไม่นั่งบรรทัด หมายความว่าเวลาคัดลายมือตัวหนังสือไม่ติดเส้นบรรทัด เขียนไม่เป็น ไม่รู้ความ แต่มั่นใจว่านักภาษาน่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ส่วนภาษาไม่เป็นทางการ หรือเรียกว่าภาษาแสลงนั้น เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมใดสังคมหนึ่งในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม เช่น วัยรุ่นมีภาษาของเขา ถ้าเป็นที่นิยมจะอยู่ได้ หากไม่เป็นที่นิยมจะหมดไปเอง เช่น ภาษาแสลงสมัยโบราณคำว่า “ชิ้น” หมายถึง คู่รัก เหมือนกับคำว่า “กิ๊ก” สักพักก็หมดความนิยมไป ลักษณะเดียวกับคำว่า “ชิมิ” ภาษาแสลงจึงมองได้สองด้าน ภาษาแสดงในแง่บวก เมื่อคนอับจนหาคำมาแทนความหมายที่ตนเองต้องการไม่ได้ ก็ต้องหาคำมาแทนให้ได้ แต่พอยุคหนึ่งจะหมดไป ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนภาษาแสดงในแง่ลบ ถ้ายกระดับคำแสลงขึ้นมาอีกระดับ เช่น เอามาทำเป็นชื่อภาพยนตร์ เป็นการยกย่องแบบเลยเถิดไป ไม่ได้ยกย่องในมุมที่ดี แต่มีลักษณะจงใจจะให้เป็นลามกมากกว่า หรือภาษาโฆษณา นักครีเอทีพชอบกระเดียดมาทางเรื่องเพศ อันนี้ไม่เหมาะสม เหมือนเอาภาษาพื้นบ้านมาประจานเมือง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวด้วยว่า ภาษาเพลง ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษาแสลงกัน เช่น คำว่า ฉัน เป็น ชัน เธอ เป็น เชอ รัก เป็น ร้าก มันไปเขย่าทอนรากฐานเสียงอักษรไทย ก ข ค ง การนำเอาภาษามาทำเช่นนี้ ทำให้ฐานเสียงเปลี่ยนไป
ดังนั้น การใช้ภาษาควรคำนึงบริบท การขยายผล เพราะโลกปัจจุบันการสื่อสารสมัยใหม่ไร้พรมแดน