ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการสร้าง “ระบบอุโมงค์ยักษ์” ซึ่งเป็นแผนครั้งใหญ่เพื่อ บูรณาการการป้องกันปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้เกิดผลอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ขนาดยักษ์ 4 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพฯ มากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปี หนึ่งในนั้นจะเป็นอุโมงค์ระบายน้ำที่ถือว่าใหญ่ที่สุด และยาวที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ‘ระบบอุโมงค์ยักษ์’ ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ ‘กรุงเทพฯ ก้าวหน้า’ ของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการหาวิธีจัดการปัญหาด้วยการ ‘นำ’ ปัญหา ไม่ใช่ ตามปัญหา
“เราต้องเลิกใช้งบส่วนใหญ่ไปกับวิธีตามแก้น้ำท่วมแบบเฉพาะหน้า ใช้งบประมาณไปกับการซื้อกระสอบทราย ซื้อปั๊มน้ำเพิ่มกันทุกปี โดย 3 ปีที่ผ่านมา กทม.ใช้งบประมาณไปกับมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมกว่า 11,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายพอฝนตกหนัก น้ำก็ยังท่วมกรุงเทพฯ อยู่ไม่ได้เป็นการวางรากฐานเพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว”
“ระบบ 4 อุโมงค์ยักษ์จะทำให้กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล อุโมงค์ยักษ์ 4 แห่งนี้ใหญ่มโหฬารขนาดที่ว่า ปริมาณน้ำที่จะระบายได้เท่ากับการระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 4 สระ ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 วินาที” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ระบบระบายน้ำ ‘4 อุโมงค์ยักษ์’ ของ กทม. จะทำให้ความยาวรวมของอุโมงค์ระบายน้ำในกรุงเทพฯ ทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 14 กิโลเมตรเป็นประมาณ 50 กิโลเมตร
“ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ จะเป็นอุโมงค์ที่ใหญ่ยักษ์จริงๆ เส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์อย่างน้อย 5 เมตร เรียกว่าใหญ่กว่าเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของอุโมงค์ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณสามเท่า เพราะอุโมงค์ปัจจุบันจะมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.8 เมตร อุโมงค์ยักษ์ของเราใหญ่ขนาดที่เอารถสิบล้อเข้าไปวิ่งได้สบาย” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว
ระบบ ‘อุโมงค์ยักษ์’ จะทำให้ศักยภาพในการระบายน้ำของอุโมงค์ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจาก 95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในปัจจุบัน เป็น 240 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า “อุโมงค์เหล่านี้จะเกิดประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ โดยรวมอย่างมหาศาล โดยไม่เพียงจะช่วยพื้นที่มันตั้งอยู่ให้รอดพ้นจากน้ำท่วมเท่านั้น หากแต่ยังช่วยพี้นที่ส่วนอื่นๆ ของกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดอีกด้วย โดยจะช่วยลดปริมาณของน้ำที่ไหลผ่านระบบระบายน้ำอื่นๆ ที่ปัจจจุบันต้องรับหน้าที่เกินกำลังความสามารถ”
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ มักประสบกับปัญหาน้ำท่วมด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ “ประการแรก พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ส่งผลให้กลายเป็นแอ่งกระทะ น้ำท่วมขังโดยธรรมชาติ และสอง กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเส้นทางน้ำตามธรรมชาติที่น้ำฝน และน้ำเหนือต้องไหลผ่านไปลงแม่น้ำ และไหลลงสู่ทะเล
“คันกั้นน้ำที่เรามีอยู่ช่วยเบี่ยงกระแสน้ำเหนือที่ไหลเข้ากรุงเทพฯ รวมทั้งช่วยกั้นระดับน้ำในแม่น้ำในฤดูน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนไม่ให้ล้นทะลักท่วมบ้านเรือน แต่สิ่งที่เรายังขาดคือ ระบบที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะมาระบายน้ำปริมาณมหาศาล หากเกิดฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ระบบอุโมงค์ยักษ์นี้จะช่วยผันน้ำฝน ลงอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน และไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เป็นทางด่วนใต้ดินให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลลงใต้เมือง แทนที่จะเอ่อนองท่วมเมือง” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ เปิดเผยต่อไปว่า อุโมงค์ยักษ์แห่งแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2554 แห่งที่สองจะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 และแห่งที่สามและสี่จะสร้างในปี 2555 โดยจะเสร็จสิ้นทั้งระบบภายใน 5 ปี
“เรารู้ว่าอุโมงค์ระบายน้ำสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เมื่อก่อนถนนสุขุมวิท ฝนตกทีไร น้ำท่วมทุกที ถึงขนาดสมัยหนึ่งมีคนเล่นวินด์เซิร์ฟกันบนถนนเลยทีเดียว ผมยังจำได้ หลังจากเปิดใช้อุโมงค์ระบายน้ำแห่งแรกของ กทม. ที่ย่านสุขุมวิท ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนี้ก็หมดไป อุโมงค์ยักษ์ทุกอุโมงค์ที่เรากำลังจะดำเนินการ จะมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากกว่าอุโมงค์ใต้ถนนสุขุมวิทถึง 15 เท่า”
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว อุโมงค์ยักษ์ หนึ่ง คือ อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง ระยะทาง 5 กิโลเมตร จากคลองลาดพร้าวเชื่อมกับคลองแสนแสบลงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ สอง คือ อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จากบริเวณ ถ.รัชดาภิเษก ตัดกับ ถ. สุทธิสาร ลงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ สาม คือ อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร จากใกล้ๆ สนามบิน- ดอนเมือง ลงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ สี่ คือ อุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร จากสวนหลวง ร.9 ลงแม่น้ำเจ้าพระยา
พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากระบบอุโมงค์ยักษ์นี้ทันที ได้แก่ พื้นที่ย่านลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง บึงกุ่ม สะพานสูง ดินแดน จตุจักร พญาไท ดุสิต บางซื่อ ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางส่วนของเขตสายไหม ประเวศ พระโขนง บางนา และสวนหลวง