คมชัดลึก :ศาลปกครองไม่รับฟ้อง “สุริยะใส” เลขาธิการ กมม. กับพวกพันธมิตรฯ ร้องไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวระงับ ครม.ประชุมสภาลงมติ MOU เขตแดนไทย-กัมพูชา 43 ชี้ การประชุมเป็นอำนาจบริหาร- นิติบัญญัติ ตาม รธน. ไม่ใช่อำนาจปกครอง และไม่บริหารราชการแผ่นดินตามคำแถลงนโยบายของ ครม.ที่แถลงต่อรัฐสภา กรณีที่ รมว.ต่างประเทศ ใช้อำนาจบริหาร
ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 1 พ.ย.53 เวลา 19.30 น. นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน และองค์คณะ
คดีหมายเลขดำที่ 1693/2553 มีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กับพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้อง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่อง กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190
เสนอเรื่องบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา (JBC) 3 ครั้ง ในการทำบันทึกความเข้าใจสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายแดนรอบปราสาทพระวิหาร เข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกรัฐสภาโดยเปิดให้มีการอภิปรายเมื่อวันที่ 26 ต.ค.53 ทั้งๆ ที่บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย – กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MOU ลงวันที่ 14 มิ.ย.43 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประชาชนไทยได้โต้แย้งคัดค้านมาโดยตลอดขั้นตอน โดยที่ประชุมสภา ได้กำหนดวาระที่จะลงมติเกี่ยวกับ MOU 43 ดังกล่าว ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ หากปล่อยให้มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป ย่อมเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขต MOU 43 ดังกล่าวที่จะส่งผลให้เป็นสนธิสัญญาที่มีผลบังคับทั้งสองฝ่าย แล้วจะเป็นกาสรเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจนและกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างร้ายแรง ที่อาจแก้ไขเยียวยาภายหลังไม่ได้
โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำขอท้ายฟ้องและเอกสารอื่นๆ ในคดี รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่า
การที่ผู้ฟ้องทั้งสี่ อ้างว่าอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนชาวไทยโดยรวม เพราะการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ที่จะนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ คือ บันทึกการประชุม JBC สมัยสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10-12 พ.ย.51 , ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพ ฯ วันที่ 3-4 ก.พ.52 และสมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เม.ย.52 เสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวันที่ 2 พ.ย.นั้น เป็นการเสนอบันทึกการประชุม JBC เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีและ ครม. ได้เสนอกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย – กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของ JBC และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ต่อรัฐสภา โดยในการประชุมร่วมกันรัฐสภาครั้งที่ 5 สมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.51 ได้ให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสามแล้ว
ซึ่งบันทึกการประชุมของ JBC และข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับ ได้อ้างถึงบันทึกบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทย – กัมพูชา
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.43 และข้อกำหนดและแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 25 ส.ค.46 ที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ลงนาม MOU 43 และข้อกำหนดและแผนแม่บทฯ ดังกล่าว และจัดประชุม JBC รวมทั้งเสนอบันทึกการประชุมต่อรัฐสภา 3 ฉบับให้ความเห็นชอบนั้น การกระทำได้มาถึงขั้นให้รัฐสภาตรวจสอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเป็นขั้นตอนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ ฯ ไม่ได้เป็นขั้นตอนการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง อีกทั้งรัฐสภาก็ต้องพิจารณาตรวจสอบบันทึกความเข้าใจ ( MOU) ระหว่างรัฐบาลไทย – กัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.43 รวมทั้งข้อกำหนดและแผนแม่บทสำหรับการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 25 ส.ค.46 ที่อ้างในข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
ดังนั้นกรณีพิพาทของผู้ฟ้องดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ไม่รับฟ้องพธม.ร้องระงับMOUไทย-เขมร
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!