โลกร่วมลุ้นช่วย 33 คนงานติดเหมืองชิลี มาราธอน 69 วัน กองทัพนักข่าวเกาะติด พ่อแม่วิศวกรชาวไทยปลื้มลูกชายมีส่วนร่วม
วันนี้ (14 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเหมืองทองคำและทองแดงซานโฮเซ่ ในทะเลทรายอาทาคามาของเมืองโกปิอาโป ทางเหนือของชิลี เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ว่า ในที่สุดคนงานเหมืองรายแรกก็ถูกช่วยเหลือขึ้นมาจากใต้ดินได้สำเร็จ หลังจากใช้ชีวิตอยู่รอดในพื้นที่แคบและมืดมานานเกือบ 10 สัปดาห์ได้ราวปาฏิหาริย์ ท่ามกลางการเอาใจช่วยของผู้คนทั่วโลกที่เฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดจากสื่อต่าง ๆ
โดยคนงานเหมืองรายแรกจากทั้งหมด 33 คนที่ติดค้างอยู่ใต้ดินในระดับความลึก 625 เมตร (2,050 ฟุต) มานานถึง 69 วัน
จากดินถล่มปิดทางเข้าออก ได้รับการช่วยเหลือขึ้นสู่พื้นผิวเป็นผลสำเร็จในปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 10.11 น.ของเช้าวันพุธตามเวลาในไทย ด้วยความดีใจของชาวชิลีทั่วประเทศ และการเกาะติดรายงานข่าวนี้ของกองทัพนักข่าวราว 1,000 คน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ข่าวทั่วโลก เช่น ซีเอ็นเอ็น และบีบีซี ตลอดจนสถานีภาคภาษาอังกฤษของอัลจาซีรา ไปยังหลายประเทศเช่น นครนิวยอร์กของสหรัฐ เมืองซิดนีย์ในออสเตรเลีย กรุงลอนดอนของอังกฤษ และกรุงโตเกียวในญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ผู้คนทั่วเอเชียไม่ว่าจะเป็นประชาชนในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทยหรือเวียดนาม ต่างร่วมยินดีและตื่นเต้นไปกับข่าวคนงานเหมืองรายแรกได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้แล้ว
โดยทันทีที่นายฟลอเรนซิโอ อวาลอส คนงานเหมืองวัย 31 ปี ก้าวขาพ้นจากแคปซูลกรงเหล็ก
และหายใจสูดอากาศสดชื่นเข้าเต็มปอดเป็นครั้งแรกในรอบ 69 วัน ก็มีการจุดพลุเหนือท้องฟ้ายามค่ำคืนของชิลี และมีเสียงปรบมือดังกึกก้อง รวมทั้งเสียงตะโกนเรียกชื่อประเทศชิลีหลายครั้ง จากนั้นนายอวาลอส เข้าสวมกอดบุตรชายวัย 7 ขวบ และนางโมนิก้า ภรรยา ก่อนที่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนร่า และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ได้พานายอวาลอสไปยังโรงพยาบาลสนาม เพื่อตรวจเช็คสุขภาพ
จากนั้นอีกไม่นาน นายมาริโอ เซปัลเวด้า เอสปิน่า คนงานเหมืองวัย 40 ปี ก็ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาเป็นรายที่ 2 ในอีกราว 1 ชั่วโมงต่อมา
และต่อด้วยนายฮวน อิลลาเนส วัย 52 ปี และคนที่ 4 นายคาร์ลอส มามานี ชาวโบลิเวียวัย 23 ปี จากนั้นตามมาอีก 2 คนคือนายจิมมี ซานเชส วัย 19 ปี และนายออสมาน อาราย วัย 30 ปี ซึ่งทั้งหมดเมื่อได้ขึ้นมาสู่พื้นผิว ก็ได้รับการสวมกอดและจูบจากสมาชิกในครอบครัวของแต่ละคน บางคนก็น้ำตาไหลด้วยความดีใจที่ได้พบหน้าคนรัก ขณะที่บรรดาญาติมิตรของคนงานเหมืองที่ยังไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นมา ก็ปักหลักอยู่ในบริเวณเหมืองต่อไป เพื่อเฝ้ารอบุคคลอันเป็นที่รัก
ประธานาธิบดีปิเนร่า ซึ่งสั่งปรับปรุงกฎระเบียบความปลอดภัยของเหมืองในชิลีขนานใหญ่ กล่าวว่า
ปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ ไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งใดของมนุษยชาติที่นำมาเปรียบเทียบได้ และผู้คนทั่วประเทศ ก็ได้เรียนรู้คุณค่าแห่งความศรัทธาและความหวังจากกลุ่มคนงานเหมืองเหล่านี้ สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยคนงานเหมืองชิลียังดำเนินต่อไป คาดว่า จะต้องใช้เวลาถึง 48 ชั่วโมงหรือ 2 วันในการนำคนงานเหมืองรายสุดท้ายขึ้นมา เพราะการนำคนงานเหมืองขึ้นมาทีละคนนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 15 -20 นาที เนื่องจากแคปซูลสามารถเดินทางได้ประมาณ 1 เมตรต่อวินาที หรือสามารถเร่งความเร็วได้เป็น 3 เมตรต่อวินาที หากคนงานเหมืองที่อยู่ในแคปซูลประสบปัญหา