ว.วชิรเมธีถามนายกฯหรือซินแสบริหารชาติ

เทศน์ใช้พุทธศาสนาต้านคอร์รัปชั่น  ชี้ศาสดายังยอมให้ตรวจสอบ   ถามไทยใช้นายกฯ หรือซินแสบริหารประเทศ


วันนี้ (6ต.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีวิทยากรประกอบด้วย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผอ. สถาบันวิมุตตยาลัย  นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. และนพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เป็นต้น ทั้งนี้มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก  โดยพระมหาวุฒิชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า  ต้นทุนในการป้องกันการทุจริตของเมืองไทยเหมือนแร่ทองคำที่ฝังในดิน คนไทยขาดศักยภาพที่จะขุดขึ้นมาถลุงใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง  ซึ่งต้นทุนของเราคือพระพุทธศาสนา  ที่ผ่านมาอาตมาไปต่างประเทศ อายมากที่เขาถามว่าเราเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมทรุดลง เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน  สภาพการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยทำให้ประเทศเหมือนเหลือแต่กระดูก แต่ก็ยังเอากระดูกมาต้มซุปซดกินกัน และสุดท้ายประเทศไทยจะเหลือศูนย์  มีสันติแต่ไม่มีสุข สันติบังคับได้ด้วยการประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้  แต่ทุกคนมีความสุขหรือไม่ สุดท้ายจะนำไปสู่สงคราม

พระมหาวุฒิชัย กล่าวต่อว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น

พระพุทธองค์เป็นศาสดาแห่งการต่อต้านคอร์รัปชั่น วัฒนธรรมองค์กรของพุทธศาสนาเป็นองค์กรแห่งความขาวสะอาด  เรามีวันปวารณาของพระสงฆ์ในวันออกพรรษา  โดยให้พระทุกรูปวิจารณ์กันและกัน ว่าตลอดช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน มีใครทำอะไรผิดพลาดบ้าง  ศาสนาพุทธจะไม่หมกเม็ดความเสื่อมในองค์กร  พระพุทธองค์เองก็เคยปวารณาพระองค์ต่อหน้าคณะสงฆ์  ว่าพระองค์ทรงทุจริตกาย วาจา ใจอย่างไรบ้าง และให้พระสงฆ์ตรวจสอบแม้จะเป็นพระศาสดา ถือเป็นวัฒนธรรมความโปร่งใสที่พุทธศาสนามอบให้คนทั่วโลก และเราสามารถปรับใช้ได้ว่าแม้ศาสดายังยอมให้มีการตรวจสอบ   และหลักธรรมอื่นๆ ของพระพุทธศาสนาก็ล้วนแต่นำไปใช้ต้านคอร์รัปชั่นได้ทั้งสิ้น

“ทำอย่างไรจะขุดเอาแร่ทองคำนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาตมามองว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง แต่มีทุกข์ย่อมมีทางออก ผ่านกรอบของอริยสัจ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ  มรรค  ทั้งนี้สิ่งสำคัญกว่าคอร์รัปชั่นคือสภาพที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ทุกข์ คือ เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดคอร์รัปชั่น วันนี้การเมืองวิกฤต เศรษฐกิจวิกล สังคมมีปัญหา โกงกินจนกลายเป็นวัฒนธรรม เกียรติภูมิของประเทศตกต่ำ ประเทศย่ำอยู่กับที่  ประเทศไทยเป็นเวทีโรค ไม่ใช่เวทีโลก สุดท้ายทำให้ประเทศไม่มีสันติสุข” พระมหาวุฒิชัย กล่าว


พระมหาวุฒิชัย กล่าวต่อว่า  วันนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศไทยบริหารด้วยอะไรไม่รู้  นายกรัฐมนตรีซินแส หรือหมอดูที่บริหารประเทศ 

ถ้าสมัยหน้าลงเลือกตั้งขอให้ระบุด้วยว่าใครเป็นซินแส ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เป็นเพราะค่านิยมและจิตสำนึกของชาติวิปริต มีกระทั่งการปลุกเสกชูชกที่กินจนตาย กินเพราะความโลภขึ้นมาบูชา  องค์กรอิสระขาดความเข้มแข็ง มีภาวะสองมาตรฐานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ระบบอุปถัมภ์เข้มข้น เครือข่ายทุจริตระดับชาติกัดกินสังคมไทยอย่างเป็นขบวนชาติ  คนทั้งประเทศรู้ว่าใครทุจริต แต่เราไม่อาจแตะต้องเขาได้  ซ้ำเขายังมาเป็นผู้นำของประเทศอีกต่างหาก เราไม่สามารถตั้งองค์กรขึ้นมาไล่จับคนผิด เพราะขบวนการคอร์รัปชั่นทำกันเป็นเครือข่าย จึงต้องมีเครือข่ายขึ้นมาจัดการเช่นกันโดยเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้น  ทั้งนี้เราต้องร่วมกันสร้างชุดศีลธรรมสากลขึ้นมาให้ได้

พระมหาวุฒิชัย ยังกล่าวอีกว่า สุดท้ายต้องมีมรรคหรือทางออกของทุกข์คือ ต้องปฎิรูปค่านิยมของสังคมไทย 

ใครคอร์รัปชั่นเท่ากับฆ่าพระอรหันต์ การคอร์รัปชั่นเป็นบาปมหันต์ ปฏิรูปการศึกษา ปฎิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เข้มแข็ง  ก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านขบวนการคอร์รัปชั่นระดับชาติประกอบด้วย ราชการ ประชาชน สื่อ สังคม ศาสนา สร้างค่านิยมสังคมที่รู้จักพอ เพราะทุกวันนี้เราเป็นสังคมที่ไม่รู้จักพอโดย ทั้งนี้ถ้าเรามองผ่านกรอบของอริยสัจ   ทุกข์อยู่ตรงไหน หนทางดับทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หนทางมีอยู่ สิ่งที่เหลืออยู่คือความสามารถที่จะสร้างหนทางนั้นขึ้นมา อาตมาเชื่อคนไทยมีศักยภาพล้นเหลือ เพราะเราผ่านวิกฤตมามาก และคอร์รัปชั่นเป็นวิกฤตหนึ่งที่เราจะต้องผ่านไปให้ได้

ด้านนายภักดี  กล่าวว่า  ในช่วงทศวรรษหลัง เกิดคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตตำแหน่งหน้าที่ 

ที่สำคัญการทุจริตคอร์รัปชั่นเวลานี้เป็นการทุจริตข้ามชาติ เพราะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปประเทศอื่น มีการฟอกเงิน จึงต้องร่วมมือกันระหว่างประเทศ  สหประชาชาติจึงมีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต  ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญานี้  เพราะติดปัญหากฎหมายภายในที่ยังมีความล้าหลังอยู่ ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศไม่มีประสิทธิภาพพอ และขณะนี้ประเทศในเอเชียเหลือเพียงไทยกับพม่าเท่านั้นที่ยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว

นายภักดี กล่าวว่า การทุจริตเป็นปัญหาระดับประเทศ ล่าสุดตนรับทราบจาก ปปท.

ว่าจากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ไทยเข้มแข็งพบว่ามีการทุจริตทั้งสิ้น  ทั้งนี้สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ก็ให้ข้อมูลว่าภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการทุจริตภาครัฐเช่นกัน โดยมากกว่าครึ่งถูกผลกระทบทำให้กำไรในภาคเอกชนลดหายไป 20 %   นอกจากนั้นองค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซงไม่ให้ทำหน้าที่ได้โดยทุกองค์กรเจอปัญหาเช่นนี้หมด   ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ต่อไปรัฐบาลต้องกำหนดให้เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ  ต้องให้การสนับสนุนงบประมาณ เสริมสร้างพลังในทุกภาคส่วนของสังคม  ต้องลดการแทรกแซงและใช้อำนาจทางกรรเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการทุกระดับ  มีการกระชับความร่วมมือการประสานงานของทุกภาคส่วนโดยต้องเสนอให้ออกเป็น มติครม.  ที่สำคัญสร้างแรงกดดันในสังคมไม่ให้ยอมรับคนโกง และการทุจริต โดยเฉพาะนักการเมือง ต้องถึงขั้นคว่ำบาตรทางการเมือง สื่อต้องร่วมมือด้วย และการพัฒนาระบบกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นสากลและมีประสิทธิภาพ  และเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ ความมีคุณธรรมของบุคลกร มีการวิจัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นพ. พลเดช  กล่าวว่า   สถานการณ์คอร์รัปชั่นเวลานี้เกิดจาก นักการเมือง ธุรกิจ ข้าราชการ ผนึกกำลังทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เปรียบเหมือนเชื้อโรคแข็งแรงกว่าเดิม 

และสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะยอมจำนนต่อคอร์รัปชั่น คนไทยมีความอดทนต่อคอร์รัปชั่นสูงหรืออาจเรียกได้ว่าคนไทยไม่ได้รังเกียจคนที่คอร์รัปชั่นจริง  องค์การด้านปราบคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ป.ป.ง. หรือ สตง. ทำงานล่าช้าไม่เฉียบคม  ทั้งนี้ในสายตาคนนอกตนมองว่าเรื่องการเร่งรัดคดีเพื่อเอาคนผิดไปลงโทษเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีกองงานพิเศษขึ้นมาดูเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความและเอาคนผิดไปรับโทษได้จริง  วันนี้ตนสังเกตว่าคนไทยและสังคมไทยเวลาเราไม่พอใจใครเรามักจะเอาความสะใจเข้าว่า โดยเฉพาะในเรื่องคนโกง ก็มีข้อเสนอหนึ่งคือการเพิ่มโทษให้แรงขึ้น  แต่ลืมไปว่ามันเวลานี้การลงโทษทำได้ช้ามาก   ตนคิดว่าการลงโทษไม่ต้องหนักก็ได้แต่ขอให้ทำให้เร็วและแม่นยำจะดีกว่า ทั้งนี้ที่สำคัญต้องมีภาคียุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานที่ทำงานด้านการปราบปรามการทุจริต ที่ประกอบด้วย ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ องค์กรอิสระ

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์