เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์
ขณะนี้ สธ.มีนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพเด็กไทยตามนโยบายรัฐบาลคือ เก่ง ดี มีสุข และแข็งแรง แต่เด็กไทยขณะนี้ ยังมีสภาพน่าเป็นห่วงหลาย ๆ เรื่อง ผลสำรวจสุขภาพอนามัยของเด็กโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2551- 2552 สำรวจเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มปฐมวัยอายุ 1-5 ปี จำนวน 3,029 คน และกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี จำนวน 5,999 คน จาก 20 จังหวัด พบว่าครอบครัวไทยขณะนี้มีเด็กเฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน ผู้เลี้ยงดูเป็นแม่ร้อยละ 63 รอง ลงมาเป็นปู่ย่าตายายร้อยละ 25 และพ่อร้อย ละ 7 และพบว่า เด็กไทยใช้เวลาในกิจกรรม ที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าออกกำลังกาย เด็กอายุ 1-5 ปี ร้อยละ 40 ดูทีวีมากกว่า วันละ 2 ชั่วโมง เด็กอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 14 เล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง และในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีเพียงร้อยละ 50 ที่ใช้เวลาออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน ด้านสุขภาพอนามัยพบว่า เด็กเผชิญกับปัญหาขาดสารอาหารและกินเกินพอดี โดยเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวน 520,000 คน หรือร้อยละ 4.4 ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ และมีเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวน 1 ล้าน 8 หมื่นคน หรือร้อยละ 9 มีปัญหาน้ำหนักเกินถึงขั้นอ้วน ซึ่งจะมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่น ๆ สูงกว่าเด็กปกติทั่วไป
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจด้านเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว ในช่วง 14 ปีมานี้
ค่าเฉลี่ยระดับไอคิวของเด็กไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนประเทศอื่น โดยเด็กไทยอายุ 6-14 ปี มีระดับไอคิวเท่ากับ 91.4 ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับไอคิวต่ำลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น มีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติคือ 80 มีเพียงร้อยละ 11 ที่มีค่าเฉลี่ยไอคิวสูงกว่าปกติ
ด้าน พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ด้านการพัฒนาด้านอารมณ์-สังคมและจริยธรรม
พบว่าเด็กไทยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6-14 ปี เคยชกต่อยกันในโรงเรียน เคยถูกขโมยของหรือทำลายข้าวของในโรงเรียน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีพัฒนาการ ไอคิว รวมทั้งสุขภาพถดถอยลง เนื่องจากสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยพ่อแม่ทุ่มเวลาทำงานหาเงิน ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูบุตร.