พม่า เร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมข้าว หวังขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พม่า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก

กำลังดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูภาคดังกล่าว หลังการจัดการที่ผิดพลาดมาเป็นเวลาหลายปี และอาจจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวชั้นนำอีกครั้งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษ พม่าส่งออกข้าว 3.4 ล้านตัน ในปี 1934 ซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุด รัฐบาลจัดตั้งสมาคมอุสาหกรรมข้าวพม่าในปีนี้ ผ่านทางการควบรวมกิจการของสมาคมข้าวต่างๆ และการรวมตัวของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการ ขณะที่มีการคลี่คลายอุปสรรคต่างๆอาทิ สาธารณูปโภคของท่าเรือที่ย่ำแย่


"ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการที่ผิดพลาดและอุปสรรคอื่นๆจะลดลงในไม่ช้านี้ และเราอาจจะเห็นพม่าในฐานะ 1 ใน 10 ผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า" นายประจวบ สุภิณี ทูตพาณิชย์ไทยประจำกรุงย่างกุ้งกล่าว


อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวยังคงเผชิญกับอุปสรรค

โดยผู้ประกอบการภายในประเทศมีความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มในระยะใกล้ ในขณะที่การส่งออกตกต่ำในปีนี้ จากความล่าช้าในการออกใบอนุญาตส่งออก และการขาดแรงจูงใจจากรัฐบาลสำหรับเกษตรกรในการเพาะปลูกข้าวมากขึ้น
ข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทเอสจีเอส (พม่า) ซึ่งเป็นผู้สำรวจเอกชน และสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรม (เอฟซีซีไอ) ระบุว่า พม่าส่งออกข้าวเพียง 301,984 ตัน ในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 794,800 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2009


"แรงจูงใจสำหรับผู้เพาะปลูกลดลงทุกปี โดยเจ้าหน้าที่มักจะพยายามควบคุมราคาข้าวในตลาดผู้บริโภคทุกวิถีทางเท่าที่เป็นไปได้" นายโซ มินท์ เกษตรกรรายหนึ่งในย่างกุ้งกล่าว


นายประจวบ กล่าวว่า การพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการค้า ซึ่งรวมถึงท่าเรือและระบบโลจิสติก

อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ครอบคลุมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่บังคับใช้ในปีนี้ จะทำให้สามารถมีการดำเนินการส่งออกข้าวได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
เขาเสริมว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่งผลให้พม่าได้รับเมล็ดพันธุ์พืช เงินทุน และการวิจัยในการช่วยผลิตข้าว


พม่าผลิตข้าวราว 30 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับไทย แต่ไทยส่งออกข้าวถึง 8.0-10.0 ล้านตันต่อปี

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เปิดเผยว่า พม่ามีประชากรราว 50 ล้านคน และบริโภคข้าวราวร้อยละ 56 ของข้าวที่ผลิตได้ หรือราว 17-18  ล้านตัน ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น นั่นทำให้มีข้าวเปลือกเหลือราว 12 ล้านตัน สำหรับการส่งออกในแต่ละปี ซึ่งเทียบเท่ากับข้าวที่ขัดสีแล้วราว 7 ล้านตัน


อย่างไรก็ตาม มีการส่งออกข้าวจำนวนมากไปยังบังคลาเทศ ผ่านทางการค้าบริเวณชายแดนที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ และจากสถิติแสดงว่า มีการส่งออกข้าวออกจากท่าเรือย่างกุ้งเพียง 500,000-800,000 ตันต่อปี


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์