สธ.เผยงานวิจัยคนบินไกล เสี่ยงรับ “รังสีคอสมิค” เตือนแอร์-สจ๊วต-กัปตัน มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ซึ่งมีการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 18 โดย นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ นายสิริชัย เธียรรัตน์ กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “อัตราความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งของลูกเรือเครื่องบินพาณิชย์จากการได้รับรังสีคอสมิค”
นายอรรถโกวิท กล่าวว่า รังสีคอสมิคเป็นรังสีชนิดอนุภาคความเร็วสูง มีแหล่งกำเนิดจากอวกาศวิ่งเข้าสู่โลกในทุกทิศทาง
เนื่องจากเป็นอนุภาคมีประจุจึงถูกเบี่ยงเบนการเคลื่อนที่ด้วยสนามแม่เหล็กโลก โดยเบี่ยงเบนมาที่สุดบริเวณเส้นศูนย์สูตร และลดลงบริเวณขั้วโลกทั้งสอง ปริมาณรังสีแปรผันตามตำแหน่งของเส้นละติดจูด และความสูงจากพื้นผิวโลก และในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีการศึกษาการได้รับปริมาณรังสียังผลของลูกเรือที่ปฏิบัติงานบนสายการบินพาณิชย์ พบว่า ได้รับเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งเป็นขีดจำกัดการได้รับรังสีของประชาชนทั่วไป ดังนั้น ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศจึงกำหนดให้ต้องมีการประเมิน และบันทึกการได้รับรังสีดังกล่าว โดยในประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกาได้บังคับใช้แล้ว
นายอรรถโกวิท กล่าวต่อว่า จากข้อมูลข้างต้น ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาปริมาณรังสีที่ได้รับของลูกเรือบนสายการบิน ที่บินจากประเทศไทยสู่ภูมิภาคต่าง ๆ
ว่า จะเกิด 1 มิลลิซีเวิร์ตหรือไม่ และหาอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการได้รับรังสีดังกล่าว โดยใช้โปรมแกรมคำนวณรังสี SIEVERT ซึ่งใช้ในสายการบินของประเทศฝรั่งเศสผลการศึกษาพบว่า การบินภายในประเทศ หรือในทวีปเอเชียได้รับรังสีไม่เกิน 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อ 1,000 ชั่วโมงบินต่อปี สำหรับการบินไปทวียุโรปได้รับ 3.3-4.3 มิลลิซีเวิร์ตต่อ 1,000 ชั่วโมงบินแต่ปี มีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งประมาณ 2 คน ต่อประชากร 10,000 คน สำหรับการบินตรงไปนิวยอร์คได้รับรังสีจากการบินไป-กลับ 1 เที่ยว 0.28 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งสูงกว่าการได้รับรังสีจากถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดทั่วไปประมาณ 10 เท่า และได้รับรังสี 7.8 มิลลิซีเวิร์ตต่อ 1,000 ชั่วโมงต่อปี มีอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งประมาณ 4 คน ต่อประชากร 10,000 คน สูงกว่าบุคลากรกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศ
“จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มลูกเรือเครื่องบินพาณิชย์ ทั้งแอร์โฮสเตส นักบิน สจ๊วต ที่ทำงานบนเครื่องบิน คือกลุ่มเสี่ยงต่อมะเร็งกว่าคนทั่วไป ซึ่งในคนทั่วไปไม่ควรเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ต แต่สำหรับคนที่ทำงานด้านรังสี ซึ่งรวมถึงคนทำงานบนเครื่องบินที่ต้องบินสูง ๆ ไม่ควรเกิน 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ขณะนี้ในหลายประเทศได้กำหนดปริมาณรังสีคอสมิคของลูกเรือเครื่องบินพาณิชย์แล้ว เช่น ญี่ปุ่นกำหนดไม่ควรเกิน 5 มิลลิซีเวิร์ต หากเกินจากนี้จะให้พักงาน หรือยุโรปไม่ควรเกิน 6 มิลลิซีเวิร์ต สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดโรคมะเร็งประมาณ 2 คนต่อประชากร 10,000 คน ถือว่ายังน้อยมาก โดยการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ลูกเรือเครื่องบินพาณิชย์ได้ทำการบันทึกการบิน จะได้ทราบว่าในแต่ละปีได้รับรังสีนี้เท่าใด ในส่วนของคนที่เดินทางบ่อยโดยเครื่องบินไกล ๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะโอกาสเกิดน้อยมากเช่นกัน” นายอรรถโกวิท กล่าว.