แอร์พอร์ตลิงก์เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์วันแรก "โสภณ" พาคณะนั่ง พบประชาชนยังคงใช้บริการเหมือนเดิม ยอดไม่ลดลง เตรียมตั้ง บียู เข้ามาบริหารสินทรัพย์ ด้านปลัดฯคมนาคม ยันวิศวกรอิสระได้ออกใบรับรองความปลอดภัยให้แล้ว...
เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 23 ส.ค. นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พร้อมด้วยนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เดินทางไปยังสถานีพญาไท ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) เพื่อใช้บริการในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นวันแรก โดยมีผู้บริหารของ รฟท.ให้การต้อนรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโสภณ ได้โดยสารรถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ซิตี้ ไลน์)
จากสถานีพญาไทมายังสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (บีซีเอที) ที่มักกะสัน เพื่อเปลี่ยนมานั่งรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (เอ็กซ์เพรส ไลน์) โดยสารไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยที่มีประชาชนใช้บริการมากเป็นปกติ ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด
นายโสภณ เปิดเผยว่า จากที่ได้ทดลองใช้บริการเห็นว่า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความพร้อมที่จะให้บริการต่อประชาชนแล้ว
แต่อาจจะมีบางส่วนที่ยังล่าช้าอยู่บ้าง เช่น ระบบสนับสนุนต่างๆ ที่จอดรถในแต่ละสถานี ซึ่งทาง รฟท. จะดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการโดยเร็ว ทั้งนี้ การให้บริการในขณะนี้จะเป็นการให้บริการเป็น 2 ระบบคือรถไฟฟ้าธรรมดา คือจอดทั้ง 8 สถานี ค่าโดยสารในเบื้องต้น 15 บาทตลอดเส้นทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที และรถไฟฟ้าด่วน วิ่งจากสถานีมักกะสัน ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ค่าโดยสาร 100 บาท ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบเช็คอินกระเป๋าโดยสารอยู่ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้เต็มทั้งระบบภายในปี 2553 นี้อย่างแน่นอน
เก็บค่ารถวันแรก แอร์พอร์ตลิงก์ คนยังใช้บริการ
ด้านนายสุพจน์ กล่าวว่า ในส่วนของระบบความปลอดภัยของการให้บริการนั้น ทางวิศวกรอิสระ (ไอซีอี)
ได้มีการออกใบรับรองให้กับโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้งในส่วนของสถานี การเดินรถ และการจัดการด้านผู้โดยสาร ทาง รฟท.จึงสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ จากนี้ รฟท.เตรียมที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (บียู) เพื่อเข้ามาบริหารโครงการนี้ และโครงการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการสายสีแดง ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ผู้บริหาร บียู ภายในเดือน ต.ค. 2553
จากนั้นจะมีการจัดตั้งเป็นบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. เบื้องต้นจะมีทุนจดทะเบียนประมาณ 2 พันล้านบาท
ซึ่ง รฟท.จะเสนอเรื่องของการเพิ่มทุนไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ การดำเนินงานในช่วง 3 ปีแรกผลการดำเนินงานน่าจะขาดทุน เนื่องจากจะต้องมีการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น จ้างบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเข้า แต่หลังจากนั้นผลการดำเนินงานน่าจะเริ่มมีกำไร ขณะนี้กำลังร่างทีโออาร์เพื่อให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ทั้ง 8 สถานีในเชิงพาณิชย์ โดยทีโออาร์น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนจำนวนผู้โดยสารนั้นคาดว่าในช่วงแรกจะมีประมาณ 30,000-35,000 คนต่อวัน และหลังจากเปิดเต็มรูปแบบในต้นปี 2554 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 50,000 คนต่อวัน.