เก็บค่ารถวันแรก แอร์พอร์ตลิงก์ คนยังใช้บริการ

แอร์พอร์ตลิงก์เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์วันแรก "โสภณ" พาคณะนั่ง พบประชาชนยังคงใช้บริการเหมือนเดิม ยอดไม่ลดลง  เตรียมตั้ง บียู เข้ามาบริหารสินทรัพย์ ด้านปลัดฯคมนาคม ยันวิศวกรอิสระได้ออกใบรับรองความปลอดภัยให้แล้ว...

เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 23 ส.ค. นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

พร้อมด้วยนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เดินทางไปยังสถานีพญาไท ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) เพื่อใช้บริการในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นวันแรก โดยมีผู้บริหารของ รฟท.ให้การต้อนรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโสภณ ได้โดยสารรถไฟฟ้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ซิตี้ ไลน์)

จากสถานีพญาไทมายังสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (บีซีเอที) ที่มักกะสัน เพื่อเปลี่ยนมานั่งรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (เอ็กซ์เพรส ไลน์) โดยสารไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยที่มีประชาชนใช้บริการมากเป็นปกติ ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด

นายโสภณ เปิดเผยว่า จากที่ได้ทดลองใช้บริการเห็นว่า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความพร้อมที่จะให้บริการต่อประชาชนแล้ว

แต่อาจจะมีบางส่วนที่ยังล่าช้าอยู่บ้าง เช่น ระบบสนับสนุนต่างๆ ที่จอดรถในแต่ละสถานี ซึ่งทาง รฟท. จะดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการโดยเร็ว ทั้งนี้ การให้บริการในขณะนี้จะเป็นการให้บริการเป็น 2 ระบบคือรถไฟฟ้าธรรมดา คือจอดทั้ง 8 สถานี ค่าโดยสารในเบื้องต้น 15 บาทตลอดเส้นทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที และรถไฟฟ้าด่วน วิ่งจากสถานีมักกะสัน ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ค่าโดยสาร 100 บาท ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบเช็คอินกระเป๋าโดยสารอยู่ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้เต็มทั้งระบบภายในปี 2553 นี้อย่างแน่นอน

ด้านนายสุพจน์ กล่าวว่า ในส่วนของระบบความปลอดภัยของการให้บริการนั้น ทางวิศวกรอิสระ (ไอซีอี)

ได้มีการออกใบรับรองให้กับโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้งในส่วนของสถานี การเดินรถ และการจัดการด้านผู้โดยสาร ทาง รฟท.จึงสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ จากนี้ รฟท.เตรียมที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (บียู) เพื่อเข้ามาบริหารโครงการนี้ และโครงการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการสายสีแดง ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ผู้บริหาร บียู ภายในเดือน ต.ค. 2553

จากนั้นจะมีการจัดตั้งเป็นบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. เบื้องต้นจะมีทุนจดทะเบียนประมาณ 2 พันล้านบาท

ซึ่ง รฟท.จะเสนอเรื่องของการเพิ่มทุนไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ การดำเนินงานในช่วง 3 ปีแรกผลการดำเนินงานน่าจะขาดทุน เนื่องจากจะต้องมีการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น จ้างบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเข้า แต่หลังจากนั้นผลการดำเนินงานน่าจะเริ่มมีกำไร ขณะนี้กำลังร่างทีโออาร์เพื่อให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ทั้ง 8 สถานีในเชิงพาณิชย์ โดยทีโออาร์น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนจำนวนผู้โดยสารนั้นคาดว่าในช่วงแรกจะมีประมาณ 30,000-35,000 คนต่อวัน และหลังจากเปิดเต็มรูปแบบในต้นปี 2554 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 50,000 คนต่อวัน.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์