นักวิจัยชี้ สังคมยุคใหม่ ผู้สูงอายุถูกทิ้งให้อยู่ลำพังมากขึ้น 7.6 % ขณะที่แนวโน้มอาศัยอยู่กับลูก ลดลงเหลือ 60.2 % จากเดิม ในปี 37 อยู่ที่ 73.6%
ชี้อีก 20 ปี ผู้สูงอายุพุ่งเป็น 1 ใน 4 ของประชากรไทย จี้รัฐถึงเวลาผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยประชากรวัยเด็กเริ่มลดจำนวนลงพอๆกับประชากรวัยแรงงาน ขณะที่ประชากรวัยสูงอายุกลับเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุสำคัญมาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงมีบุตรเฉลี่ยจำนวนลดลง จาก 5.4 คน ในปี 2503 เหลือเพียง 1.85 คน ในปี 2553 ขณะที่อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 71.7 ปีในปัจจุบัน เป็น 76.4 ปี ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างดังกล่าวทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ เพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 11และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ในปี 2573
“เมื่อก่อนเราเคยมีผู้สูงอายุไม่มาก หากเปรียบเทียบคนไทย 100 คน เราจะเจอเพียง 7 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 11 คน แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 25 คน หมายความว่าคนไทย 4 คน จะมีคนสูงอายุ 1 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก ”ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว
ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น จากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2550 ผู้สูงอายุที่อยู่กับคู่สมรสลำพังมีร้อยละ 11.6 ในปี 2537 เพิ่มเป็นร้อยละ 16.3 ในปี 2550 ขณะที่แนวโน้มที่น่ากังวลคือ สัดส่วนของผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่กับลูกลดลงตามลำดับ จากร้อยละ 73.6 ในปี 2537 เหลือ 65.7 ในปี 2545 และเหลือร้อยละ 60.2 ในปี 2550
“ผู้สูงอายุที่อยู่กันลำพังมากขึ้น อยู่ห่างจากครอบครัว ห่างจากลูก ทำให้การแสดงความรักความห่วงใยลดลง โอกาสใกล้ชิดกับคนในครอบครัวลดลง การแสดงความรักต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแลเอาในใส่ รวมทั้งจากความสุขในการใช้ชีวิตบั้นปลายกับลูกหลานและญาติพี่น้อง”ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว
ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวว่า ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุที่พิการ ที่ต้องการการพึ่งพาในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ขณะที่รัฐบาลเองจะต้องมีการวางระบบบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวรองรับสังคมผู้สูงอายุในวันข้างหน้า เพราะสังคมไทยเหลือเวลาน้อยมากในการปรับตัวกับโครงสร้างประชากรใหม่ ที่มีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มาก อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและด้านอื่นๆต่อไป รัฐบาลจึงควรกำหนดผลักดันแผนผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ประเด็นผู้สูงอายุได้รับความสนใจ โดยเพิ่มบทบาทให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เพราะเป็นองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ ใกล้ชิดชาวบ้าน มีความเข้าใจและดูแลผู้สูงอายุได้ดี