รื้อออกแล้ว “โถส้วม” บนปราสาทนครหลวง “รมต.นิพิฏฐ์” ยันเป็นการอำนวยความสะดวกให้พระชราภาพ
ทางวัดไม่มีเจตนาลบหลู่ หรือทำลายโบราณสถาน ด้านอธิบดีกรมศิลปากร ระบุไม่เหมาะสม เพราะเคยจัดโครงการถวายความรู้แก่พระสังฆาธิการแล้ว ขณะที่ วัฒนธรรมกรุงเก่า วอนประชาชนสอดส่องวัด โบราณสถานมากยิ่งขึ้น
จากกรณีพบโถชักโครกที่ชั้นบนสุดของปราสาทนครหลวง หมู่ 1 ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งอยู่ในพื้นที่มรดกโลก นอกจากนี้ยังพบท่อน้ำ พีวีซี สีฟ้า เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 5 เมตร ถูกทิ้งอยู่ใกล้กัน หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม เบื้องต้นทางวัดชี้แจงว่า ส้วมถูกสร้างตั้งแต่ปี 2547 ในงานพุทธาภิเษกอยุธยามหามงคล เป็นการอำนวยความสะดวกให้พระผู้ใหญ่ที่อายุมาก เพราะโดยรอบปราสาทชั้นบนไม่มีห้องน้ำ จึงตั้งโถชักโครกขึ้นชั่วคราว และมีการใช้งานเพียงวันเดียวเท่านั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบบริเวณชั้นบนของปราสาทนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
พบคนงานของสำนักงานกรมศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา 4 คน มาช่วยกันทำความสะอาด กวาดบริเวณลานชั้นบน และถอนหญ้าที่อยู่ตามซอกอิฐและกำแพง รวมทั้งมีการตัดหญ้าบริเวณรอบปราสาทด้วย ขณะเดียวกันก็มีคนงานบาง ส่วนไปช่วยกันเก็บท่อน้ำพีวีซีจำนวนมาก คนงานที่มารักษาความสะอาดบอกว่าเห็นโถส้วมดังกล่าวมานานแล้ว แต่ไม่ได้มีใครสนใจว่าจะนำออกไปทิ้ง แต่ยืนยันว่าไม่มีใครใช้ ซึ่งหลังจากเป็นข่าวแล้ว ทางวัดได้มารื้อออกไปตั้งแต่เย็นวันที่ 7 ก.ค.
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว. วัฒนธรรม กล่าวถึงการตั้งโถชักโครกบนปราสาทนครหลวง ว่า ตนได้รับรายงานเรื่องการรื้อถอนออก
รวมถึงการจัดส่งเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของสำนักศิลปากรประสานงานกับเจ้าอาวาส และตรวจสอบการดำเนินงานรื้อถอนทั้งหมดแล้ว ส่วนสาเหตุของการตั้งโถชักโครกบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเจ้าอาวาสวัดชราภาพ ประกอบกับสุขภาพไม่แข็งแรง และยังต้องปฏิบัติกิจสงฆ์เป็นเวลานาน ทางวัดจึงได้จัดสร้างโถชักโครกเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นการชั่วคราว ไม่มีเจตนาลบหลู่ หรือต้องการทำลายโบราณสถานแต่อย่างใด
ด้านนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงการตั้งโถชักโครกบริเวณโบราณสถานว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม
ที่ผ่านมากรมศิลปากรเคยจัดโครงการถวายความรู้ให้แก่พระสังฆาธิการทั่วประเทศ ให้ได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่า และการอยู่ร่วมกับโบราณสถานอย่างเหมาะสมมาแล้ว แต่เมื่อยังเกิดปัญหาขึ้นอีกก็จะต้องประสานงานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจ และแจ้งให้พระสงฆ์รู้คุณค่าของโบราณสถานมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เนื่องจาก โบราณสถานทั่วประเทศมีกว่า 8 พันแห่ง โดยมีทั้งวัดและโบราณสถานที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ดังนั้นการจะดูแลรักษาให้ทั่วถึงคงเป็นไปได้ยาก จึงอยากให้พระสังฆาธิการ พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไป ช่วยกันดูแลแหล่งโบราณสถาน หากพบเห็นการกระทำไม่เหมาะสม แจ้งมาได้ที่กรมศิลปากร หรือสำนักศิลปากรทั่วประเทศ
ขณะที่นายสมชาย มีชูพร วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าการมีโถส้วมไปตั้งอยู่บริเวณสถานที่สำคัญ
เช่น ปราสาทนครหลวงนั้นไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระจะทำผิด เชื่อว่าเป็นเจตนาดีที่ต้องการเตรียมพร้อมในวันประกอบพิธีเมื่อปี 2547 แต่ไม่ได้รื้อถอนออก หรือลืมไปเลย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ตาม เมื่อพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ ต้องบอกกับผู้รับผิดชอบ เรื่องที่เกิดนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ปล่อยให้ผ่านมานานหลายปีจนกลายเป็นข่าวใหญ่โต ต่อไปนี้คงต้องอาศัยท้องถิ่นช่วยเป็นหูเป็นตามากขึ้น.