ไข้เลือดออกระบาดอีสานใต้ 4 จว.พบผู้ป่วย 2,543 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กหญิง ป.2 และแม่ลูกอ่อนวัย 19 ปี
วันนี้ (30 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา (สคร.5) อ.เมือง จ.นครราชสีมา
นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผอ.สคร.5 แถลงข่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 ภาคอีสานตอนล่าง 4 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53-วันนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมแล้ว 2,543 ราย เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 948 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.สีคิ้ว จ.บุรีรัมย์ ป่วย 532 ราย เสียชีวิต 1 รายที่ อ.พุทไธสง จ.สุรินทร์ ป่วย 849 ราย และ จ.ชัยภูมิ ป่วย 214 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้วพบว่า มีผู้ป่วยสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ไข้เลือดออกปีนี้ระบาดรุนแรง ส่วนสำคัญมาจากภาวะโลกร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
หลายพื้นที่มีปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ ประชาชนมักหาภาชนะมากักเก็บน้ำไว้ใช้ตามบ้านเรือนมากขึ้น จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมไปถึงสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ทำให้วงจรชีวิตยุงฟักตัวเร็วขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาวะโลกร้อน และผลกระทบจากภัยแล้งทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของยุงลายได้ดีขึ้น และสังเกตพบว่า ในเขตตัวเมือง หรือเขตเทศบาลที่มีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น จะเป็นแหล่งกระจายเชื้อไข้เลือดออกได้ดี ทำให้มีผู้ป่วยในเขต อ.เมือง ของทุกจังหวัด สูงกว่าเขตต่างอำเภอรอบนอก
ผอ.สคร.5 กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือโรงเรียน
ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงเปิดเทอม โอกาสที่นักเรียนป่วยไข้เลือดออกแล้วเกิดการแพร่ระบาดเป็นหมู่มากก็มีสูง นอกจากนี้ พื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ เช่น บ้านเรือนประชาชน ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก และวัด ก็เป็นแหล่งกระจายเชื้อได้รวดเร็วเช่นกัน การณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายจึงต้องเน้นในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง