ไข้เลือดออกคร่าชีวิตเด็ก ป.2-แม่ลูกอ่อน

ไข้เลือดออกระบาดอีสานใต้ 4 จว.พบผู้ป่วย 2,543 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กหญิง ป.2 และแม่ลูกอ่อนวัย 19 ปี


วันนี้ (30 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา (สคร.5) อ.เมือง จ.นครราชสีมา

นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผอ.สคร.5 แถลงข่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 ภาคอีสานตอนล่าง 4 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53-วันนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมแล้ว 2,543 ราย เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 948 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.สีคิ้ว จ.บุรีรัมย์ ป่วย 532 ราย เสียชีวิต 1 รายที่ อ.พุทไธสง จ.สุรินทร์ ป่วย 849 ราย และ จ.ชัยภูมิ ป่วย 214 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้วพบว่า มีผู้ป่วยสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้ไข้เลือดออกปีนี้ระบาดรุนแรง ส่วนสำคัญมาจากภาวะโลกร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

หลายพื้นที่มีปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ ประชาชนมักหาภาชนะมากักเก็บน้ำไว้ใช้ตามบ้านเรือนมากขึ้น จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมไปถึงสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ทำให้วงจรชีวิตยุงฟักตัวเร็วขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาวะโลกร้อน และผลกระทบจากภัยแล้งทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของยุงลายได้ดีขึ้น และสังเกตพบว่า ในเขตตัวเมือง หรือเขตเทศบาลที่มีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น จะเป็นแหล่งกระจายเชื้อไข้เลือดออกได้ดี ทำให้มีผู้ป่วยในเขต อ.เมือง ของทุกจังหวัด สูงกว่าเขตต่างอำเภอรอบนอก

ผอ.สคร.5 กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือโรงเรียน

ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงเปิดเทอม โอกาสที่นักเรียนป่วยไข้เลือดออกแล้วเกิดการแพร่ระบาดเป็นหมู่มากก็มีสูง นอกจากนี้ พื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ เช่น บ้านเรือนประชาชน ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก และวัด ก็เป็นแหล่งกระจายเชื้อได้รวดเร็วเช่นกัน การณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายจึงต้องเน้นในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปีนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกค่อนข้างสูง

แต่หน่วยงานสาธารณสุขก็ได้เตรียมพร้อมทีมสอบสวน และควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย SRRT) ระดับจังหวัด ๆ ละ 1 ทีม และระดับอำเภอครบทุกอำเภอ 80 ทีม เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกให้เข้าถึงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมเครื่องพ่นสารเคมี พร้อมน้ำยา และสนับสนุนอุปกรณ์ควบคุมโรค เช่น ทรายอะเบท ยาทากันยุง ช่วยเหลือพื้นที่ที่มีการระบาดมากจนถึงขั้นวิกฤต ที่สำคัญได้เน้นการรณรงค์โดยยึดคาถา 3 ร 5 ป เน้นดูแลพิเศษสถานที่ที่รวมคนเป็นกลุ่มใหญ่ ได้แก่ โรงเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล ส่วน 5 ป คือ วิธีปฏิบัติให้ปลอดลูกน้ำยุงลาย ได้แก่ ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบบ้าน และเจ้าของบ้านปฏิบัติให้เป็นนิสัย โดยไม่ต้องรอ อสม. หรือเจ้าหน้าที่มาทำให้ ทั้งนี้ การป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคืออย่าให้ยุงลายกัด

ขณะที่ นายอภิรัตน์ โสกำปัง หน.กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง สคร.5 กล่าวเสริมว่า กลุ่มผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่เขต 14

พบส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 10-14 ปี แต่ในรายผู้เสียชีวิตที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นเด็กนักเรียนหญิง ป.2 อายุ 8 ขวบ เบื้องต้นมีไข้ธรรมดา อาการไม่รุนแรง ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์ที่คลินิก ก่อนส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.สีคิ้ว พออาการดีขึ้นก็กลับบ้าน แต่ก็มีอาการไข้ขึ้นสูงอีกรอบ จึงไปหาหมอ รพ.สีคิ้ว รอบ 2 ก่อนถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา รวมเวลานาน 16 วัน จึงเสียชีวิต เนื่องจากภาวะช็อก เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนผู้เสียชีวิตอีกรายที่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เป็นหญิงแม่ลูกอ่อน อายุ 19 ปี มีลูกอ่อนวัย 9 เดือน มีอาการไข้

พอไปพบแพทย์ก็ไม่ยอมนอนพักรักษาตัวที่ รพ. เนื่องจากต้องกลับบ้านไปเลี้ยงลูกอ่อน ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง จึงเสียชีวิตลงในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ เมื่อช่วง พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีการเสียชีวิตทั้ง 2 รายนั้น ส่วนหนึ่งมาจากระบบการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงการวินิจฉัยโรคของแพทย์ที่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเชื้อไข้เลือดออกมีพัฒนาการที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะฉะนั้น หากสงสัยว่า ป่วยเป็นไข้เลือดออก จึงควรให้เวลาแพทย์วินิจฉัยโรคโดยละเอียด และควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์