ก่อนจะถึงปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ จันทรุปราคา ในค่ำคืนวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีปรากฏการณ์ที่เรียกความสนใจจากประชาชนที่พบเห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์ที่ดูเสมือนมีดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าถึง 3 ดวง
ซึ่งพบได้ที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเช้าวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักท่องอินเทอร์เน็ตว่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการฯ และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นอาทิตย์ทรงกลด (Solar Halo) แบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า ซันด็อก (Sundogs) ซึ่งอาจเกิดเป็นคู่อยู่ด้านซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์ แต่บางครั้งก็เกิดเพียงด้านเดียว โดยซันด็อกเกิดจากการที่แสงอาทิตย์หักเหผ่านผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมแบน ๆ ที่อยู่ภายในเมฆระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เมฆซีร์โรสเตรตัส (cirrostratus) แสงที่เดินทางผ่านผลึกจะปรากฏเป็นแถบแสงอยู่ข้างดวงอาทิตย์ โดยสีแดงจะอยู่ด้านใกล้ดวงอาทิตย์
ส่วนชื่อซันด็อกมาจากตำนานเทพของพวกนอรส์ (Norse) โดยดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนเทพโอดิน (Odin) และแถบแสง 2 ข้างคือ สุนัขป่าที่ติดสอยห้อยตามเทพโอดิน
หากแถบซันด็อกสว่างมาก ๆ จะทำให้ดูเหมือนว่ามีดวงอาทิตย์ 3 ดวงอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งฝรั่งเรียกว่า ม็อคซัน (Mock Suns) แปลว่า ดวงอาทิตย์เลียนแบบ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ในภาษาลาตินคือ พาร์ฮีเลีย (Parhelia) มาจากคำอุปสรรค Par (อยู่ข้าง) กับ Helios (ดวงอาทิตย์) รวมกันหมายถึง อยู่ข้างดวงอาทิตย์ นั่นเอง
ทั้งนี้ตำแหน่งของแถบแสงในปรากฏการณ์ซันด็อกจะขึ้นอยู่กับมุมเงยของดวงอาทิตย์ กล่าวคือ หากดวงอาทิตย์มีมุมเงยต่ำ เช่น 3 องศา ซันด็อกอยู่ในแนวระดับใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 22 องศา แต่หากดวงอาทิตย์มีมุมเงยสูงขึ้น ซันด็อกจะเคลื่อนตัวออกห่างจากดวงอาทิตย์และจางลง จนกระทั่งเมื่อมุมเงยของดวงอาทิตย์อยู่เกิน 40 องศา จะเห็นซันด็อกได้ยากเนื่องจากแถบแสงจางมาก
ดร.บัญชา กล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ยังอาจเกิดกับดวงจันทร์ได้อีกด้วย โดยเรียกว่า “มูนด็อก” (Moondog) แต่มูนด็อกเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ยากกว่า เนื่องจากดวงจันทร์จะต้องสว่างมาก เช่น ใกล้คืนวันเพ็ญ และมีเมฆซีร์โรสเตรตัสบดบังดวงจันทร์อยู่ในขณะนั้น
ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรงกลดแบบต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์ สามารถศึกษาจากเว็บของชมรมคนรักมวลเมฆ (http://portal. in.th/cloud-lover)
เชื่อหรือยังว่าทุกปรากฏการณ์ วิทยาศาสตร์มีคำตอบ!!!!.