เมื่อวันที่ 11 พ.ค. น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคลมแดด เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน
อาจจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็ได้ จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70 เปอร์เซ็นต์
“น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย จะประกอบด้วยน้ำ 80% อยู่ในอวัยวะต่างๆ ทั้งสมอง หัวใจ ไต การขาดน้ำจะทำให้ร่างกายทำงานได้แย่ลง สถานการณ์ขณะนี้ในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยมีการจัดระบบรายงานโรค แต่ยังถือว่าไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นการเตือนภัยภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะไม่ใช่โรคระบาดที่มีความเสี่ยงร้ายแรงทำให้เกิดการติดต่อได้ในวงกว้างหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยได้สั่งให้จังหวัดเฝ้าระวังเข้มข้นขึ้น และให้คำแนะนำประชาชนอย่างทั่วถึง”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
น.พ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันอันตรายในช่วงที่สภาพอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานกลางแดดควรสลับมาทำงานในที่ร่มเป็นครั้งคราว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน
และขอแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด ได้แก่ 1.ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.ให้ดื่มน้ำมากๆ 3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง 4.หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และเป็นการลดความร้อนออกจากร่างกาย 5.หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์