หลวงพ่ออุตตมะ ละสังขาร มอญสิ้นหลักชัย

"ละสังขาร"


เมื่อเวลา 07.22 น. วันที่ 18 ต.ค. ทั้งนี้ ที่ห้องไอซียู ชั้น 3 หอผู้ป่วยอัษฎางค์ โรงพยาบาลศิริราช พระราชอุดมมงคล หรือ หลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ศรัทธาและเคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ได้ละสังขารมรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะปอดอักเสบ ทันทีที่บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่ออุตตมะทราบข่าว ต่างทยอยกันมารออยู่บริเวณหน้าห้องไอซียู เนื่องจากโรงพยาบาลได้ให้ญาติและผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่ออุตตมะเข้าไปกราบศพได้ภายในห้องไอซียูเท่านั้น

ต่อมาเวลา 10.40 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศิริราชได้เคลื่อนศพหลวงพ่ออุตตมะออกจากห้องไอซียู ไปฉีดยารักษาสภาพศพ ที่ตึกอดุลยเดชวิกรม โดยมีลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่ออุตตมะ นำถือพานที่วางพระแก้วมรกตและลูกประคำของหลวงพ่อที่ใช้อยู่เป็นประจำ เดินนำหน้าระหว่างทางไปตึกอดุลยเดชวิกรม โดยมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวมอญกว่า 100 คน ที่ทราบข่าวการละสังขารของเกจิอาจารย์ชื่อดัง นำดอกไม้ธูปเทียนมากราบศพเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความอาลัยหลายคนร่ำไห้น้ำตานองหน้า จนถึงเวลา 12.30 น. ได้มีการเคลื่อนศพหลวงพ่ออุตตมะออกจากตึกอดุลยเดชวิกรม นำขึ้นรถตู้ทะเบียน ฮก 9606 กรุงเทพมหานคร กลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

"ติดเชื้ออย่างรุนแรง"


นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า หลวงพ่ออุตตมะได้มรณภาพจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะปอดอักเสบ สิริอายุได้ 97 ปี โดยหลวงพ่ออุตตมะ เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2547 ด้วยโรคไต แต่หลังจากที่ท่านเข้ามารักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลแล้ว ด้วยการที่ท่านอยู่ในวัยชราภาพมาก ทำให้เกิดอาการติดเชื้ออยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนที่หลวงพ่ออุตตมะจะมรณภาพนั้น หลวงพ่ออุตตมะเกิดอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง คณะแพทย์พยายามให้ความช่วยเหลือด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้ กระทั่งมรณภาพในที่สุด

ในช่วงที่หลวงพ่ออุตตมะเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล หลวงพ่อท่านไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถลืมตาเองได้เป็นเวลากว่า 1 ปี เพราะนอกจากหลวงพ่อเป็นโรคไตแล้วยังมีโรคหัวใจ โรคปอด สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ประกอบกับท่านอายุมาก จึงทำให้ระดับในการรู้ตัวลดลงด้วย และตั้งแต่วันที่หลวงพ่ออุตตมะเข้ามารับการรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศิริราช สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับหลวงพ่ออุตตมะไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์มาโดยตลอด นพ.ประสิทธิ์กล่าว

"ขอพระราชทานเพลิงศพ"


ขณะที่พระสนธยา พระลูกวัดวังก์วิเวการาม หนึ่งในลูกศิษย์หลวงพ่ออุตตมะ กล่าวว่า ในส่วนของการสวดอภิธรรมศพหลวงพ่อนั้น จะจัดขึ้นที่วัดวังก์วิเวการาม โดยหลวงพ่ออุตตมะ ได้บอกไว้แล้วว่า ในวันแรกของพิธีศพ ต้องการให้สวดเป็นสำเนียงมอญและจะมีการขอพระราชทานเพลิงศพด้วย สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่ออุตตมะ ที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่เคารพนิยมนำไปบูชาคือ เหรียญหลวงพ่ออุตตมะและลูกประคำ

ส่วนบรรยากาศที่วัดวังก์วิเวการาม หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ตั้งแต่ช่วงสายวันเดียวกัน หลังทราบข่าวการละสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ ได้มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวมอญ เดินทางมาที่วัดช่วยกันจัดเตรียมสถานที่รอรับศพหลวงพ่อ ขณะเดียวกัน นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผวจ.กาญจนบุรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าดูแลความสงบเรียบร้อยในงาน โดยมี พ.อ.ตะวัน เรืองศรี ผบ.ฉก.ร.9 ค่ายสุรสีห์ นายพนายุทธ กาญจนอโนทัย รักษาการนายอำเภอสังขละบุรี พ.ต.อ.สืบพงษ์ ภาสยะวรรณ ผกก.สภ.อ.สังขละบุรี เดินทางไปที่วัดคอยดูแลสั่งการ

"อยากให้บรรจุโลงแก้ว ให้คนมาสักการะ"


ขณะเดียวกัน ชาวมอญที่ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงพ่ออุตตมะ ได้แต่งชุดขาวเดินทางมานั่งเรียงรายเป็นแถวยาวบนขอบถนนทางเข้าวัดวังก์วิเวการามทั้งสองฟากถนน ในมือแต่ละคนถือดอกเข็ม หญ้าแพรก รอกราบเคารพศพหลวงพ่อ ส่วนที่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 2 ห่างจากวัดวังก์วิเวการามประมาณ 1 กม. ญาติพี่น้องของหลวงพ่ออุตตมะได้มารวมตัวกันสอบถามข่าวคราว โดยนางมะเอติน อายุ 83 ปี น้องสาวหลวงพ่ออุตตมะ กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกเสียใจอย่างมากต่อการจากไปของหลวงพ่อซึ่งเป็นพี่ชาย ในส่วนของญาติพี่น้องและชาวมอญที่นี่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้เผาศพหลวงพ่อ อยากให้บรรจุโลงแก้วเก็บไว้ที่วัด เพื่อให้ชาวมอญและชาวไทยที่นับถือหลวงพ่อได้กราบไหว้สักการะ

ทางด้านพระครูกาญจนาสิทธิสาร รองเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม กล่าวว่า หลวงพ่ออุตตมะถือเป็นจุดศูนย์กลางและหลักชัยของคนที่นี่ ทั้งคนไทยและคนมอญ ต่างพากันเคารพบูชา สิ่งที่หลวงพ่อทำให้ก่อนที่ท่านจะจากไปคือ การขอสัญชาติไทยให้แก่คนมอญ ขณะนี้มีคนมอญจำนวนมากที่ได้บัตรประจำตัวประชาชน สำหรับการเตรียมจัดงานศพ ทางวัดได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับพิธีต่างๆอย่างเต็มที่ ส่วนงานศพจะมีกี่วัน ทำอะไรอย่างไรบ้าง คงต้องรอทางผู้ใหญ่และฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน และกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้ง ตอนนี้ทางวัดเพียงแต่เตรียมงานเอาไว้เท่านั้น

"ร่วมงานจำนวนมาก"


ต่อมาเวลา 17.30 น. ขบวนศพของหลวงพ่ออุตตมะเดินทางมาถึงวัด มี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ลูกศิษย์คนสนิทของหลวงพ่อเป็นผู้นำขบวนศพเดินทางมา โดยมีพระสงฆ์ ชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรีและบรรดาศิษยานุศิษย์ จำนวนมากเดินทางมารอรับศพ ทันทีที่มาถึงบรรดาศิษยานุศิษย์ได้ช่วยกันแบกเปลศพหลวงพ่ออุตตมะเข้าไปในวัด ท่ามกลางลูกศิษย์นับพันคนที่พากันร่ำไห้ รวมถึงนางมะเอติน อายุ 83 ปี น้องสาวหลวงพ่ออุตตมะ ที่ร่ำไห้ด้วยความเสียใจจนเป็นลมพับไป

นายสมบูรณ์ สุขเจริญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองลู เผยว่า ในวันที่ 19 ต.ค. จะมีการประชุมกันระหว่างพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่กับศิษยานุศิษย์และกรรมการวัดวังก์วิเวการาม โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน เพื่อกำหนดและหารือถึงการจัดพิธีศพ ขณะที่นายมานพ เกิดแดง ปลัดเทศบาลตำบลวังกะ กล่าวว่า ได้เตรียมจัดพื้นที่ไว้รองรับบรรดาศิษยานุศิษย์ที่คาดว่าจะหลั่งไหลมาร่วมในพิธีอาบน้ำหลวงศพของหลวงพ่ออุตตมะในเย็นวันที่ 19 ต.ค.นี้ โดยคาดว่าจะลูกศิษย์และผู้เคารพนับถือหลวงพ่อเดินทางมาเคารพศพกันนับหมื่นคน

"บวชตลอดชีวิต"


สำหรับประวัติของพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง ต.เกลาสะ อ.เย จ.มะละแหม่ง ประเทศพม่า บิดาชื่อนายโง มารดาชื่อนางทองสุก อาชีพทำไร่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 12 คน หลวงพ่ออุตตมะเป็นบุตรคนโต นามเดิมชื่อ เอหม่อง พี่น้องเป็นชาย 7 คน หญิง 5 คน ปัจจุบันมีชีวิตเหลืออยู่เพียง 2 คน คือนางมะเอติน อายุ 83 ปี น้องคนที่ 8 อยู่ที่ อ.สังขละบุรี กับนางซุด อายุ 61 ปี น้องคนสุดท้อง อยู่ที่ อ.เย ประเทศพม่า หลังเรียนหนังสือจบจากพม่าเมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเกลาสะ และปีนั้นเองหลวงพ่ออุตตมะได้ ศึกษาภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมโท ต่อมาหลวงพ่ออุตตมะจึงตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกลาสะ ได้รับฉายาว่า อุตตมรัมโภ แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด โดยหลวงพ่ออุตตมะได้ตั้งเจตจำนงที่จะบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต

ต่อมา พ.ศ. 2475 หลวงพ่ออุตตมะสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดปราสาททอง ที่ อ.เย พ.ศ.2484 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสุขการี อ.สะเทิม จ.สะเทิม ประเทศพม่า ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า หลวงพ่ออุตตมะได้ เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่วัดตองจอย และวัดป่าเลไลยก์ จนมีความรู้ความสามารถในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนวิชาไสยศาสตร์และพุทธคมเป็นอย่างดี ทั้งยังชอบออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆในประเทศพม่า และเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกทาง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2486 โดยเดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอก ก่อนจะออกธุดงค์ไปที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย น่าน กาญจนบุรี

"จุดกำเนิดชุมชนมอญสังขละบุรี"


ด้วยความเบื่อหน่ายเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศพม่าขณะนั้น หลวงพ่ออุตตมะจึงตัดสินใจมุ่งสู่ประเทศไทยอีกครั้งทางหมู่บ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.สังขละบุรี โดยขณะที่หลวงพ่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ มีคนมาแจ้งข่าวว่าที่กิ่งอำเภอสังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของหลวงพ่ออพยพเข้าเมืองไทย และต้องการนิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยม เมื่อหลวงพ่ออุตตมะเดินทางกลับไปยัง อ.ทองผาภูมิ ไปยัง อ.สังขละบุรี และพบกับคนมอญทั้งหมดที่มาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง บ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อจึงพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง

นับเป็นจุดกำเนิดแรกเริ่มของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี และในปี พ.ศ. 2499 หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้าที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น และในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ชื่อว่า วัดวังก์วิเวการาม สมณศักดิ์ของหลวงพ่ออุตตมะ พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูอุดมสิทธาจารย์ พ.ศ. 2524 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระอุดมสังวรเถร และ พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชอุดมมงคลพหลนราทร


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์