วันนี้( 1เม.ย.)ที่ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออก สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี
นสพ.วิศิษฐ์ วิชาศิลป์ รอง ผอ.องค์การสวนสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องเทคโนโลยีทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่าต้นแบบในละมั่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสำคัญที่มีเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และมีการลดลงของความหลากหลายทางพันธุกรรมในปัจจุบันของไทย นอกจากนี้ ยังมีการแถลงถึงความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของทีมสัตวแพทย์ไทย ที่สามารถทำให้เกิดตัวอ่อนละมั่ง ซึ่งเกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่ที่เจาะจากรังไข่ของละมั่งเพศเมีย กับน้ำเชื้อแช่แข็งจากละมั่งเพศผู้ ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสามารถพัฒนาถึงระยะ บลาสโตซีส (Blastocyst) หมายถึงการปฏิสนธิในหลอดแก้วได้เป็นครั้งแรกของโลก และเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ย้ายฝากตัวอ่อนเข้าสู่ท่อนำไข่ของแม่ละมั่งอุ้มบุญ 4 ตัว แบ่งเป็นตัวอ่อนระยะ 2 เซลล์ 2 ตัว (แม่ละ 1 ตัวอ่อน) และตัวอ่อนระยะ 4 เซลล์ เข้าสู่แม่อุ้มบุญ อีก 2 ตัว (แม่ละ 1 ตัวอ่อน) ไปแล้ว
ทั้งนี้คาดว่าภายใน 2 ปีนี้ ลูกละมั่งในหลอดแก้วตัวแรกของโลก จะถือกำเนิดเป็นครั้งแรกของโลก ในประเทศไทย
ซึ่งทีมสัตวแพทย์ของไทย ประกอบด้วย นสพ.ดร.สิทธวีร์ ทองทิพย์สิริเดช คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมผสมเทียมช้างจนเกิด "พลายปฐมสมภพ" เป็นผลสำเร็จ ,นสพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าทีมผสมเทียมหมีแพนด้า องค์การสวนสัตว์ จนเกิด "หลินปิง" ,สพญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี จากองค์การสวนสัตว์ ผู้ทำให้เกิดลูกแมวหลอดแก้วตัวแรกของไทย และ ดร.มาลี อภิเมธีธำรงค์ จากกรมปศุสัตว์ หัวหน้าทีมโคลนนิ่งตัวอ่อนพระโค และพันธุ์ขาวลำพูนได้สำเร็จ โดยมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้านการใช้เทคโนโลยีการเพาะขยายพันธุ์กวาง คือ ดร.เด็บบร้า เบิร์ก จากนิวซีแลนด์ มือหนึ่งของโลกด้านการทำกวางหลอดแก้วและโคลนนิ่งกวางแดง กับ ดร.ปิแอร์ คอมมิซอลี จากสถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา มือเจาะไข่และย้ายฝากตัวอ่อนกวาง มาทำงานร่วมกัน.