คมชัดลึก :หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ เมื่อปี 2547 ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าชายฝั่งทะเลของ 15 ประเทศทั่วโลก จนมีผู้เสียชีวิตราว 2.3 แสนคน มีนักวิเคราะห์ด้านธรณีวิทยาและภัยพิบัติแผ่นดินไหวออกมาให้ข้อมูลว่า การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดนี้จะเกิดขึ้นตามรอบเวลาทุกๆ 500 ปี โดยวิเคราะห์จากสถิติที่บันทึกมาตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวสารต่างมั่นใจว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะยังไม่เกิดขึ้นอีกในช่วงอายุที่เหลือ
แต่เหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แม้มีรายงานผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่พันคน แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ทำลายทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวทั่วโลก เนื่องจากปี พ.ศ.2503 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ชิลี ตอนนั้นนักวิเคราะห์ให้ความเห็นตรงกันว่า ต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 500-1,000 ปี จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่เวลาผ่านไปเพียง 50 ปี แผ่นดินก็ไหวอย่างรุนแรงในจุดเดิมอีกครั้ง
เมื่อทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ถูกล้มล้าง ทำให้เกรงกันว่าระยะเวลาของการเตือนภัยอาจใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สึนามิ" ซึ่งเชื่อกันว่าจะเกิดทุก 500 ปี จากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ อาจเกิดขึ้นอีกในเวลาใดก็ได้ต่อจากนี้ไป
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า
เมื่อปี พ.ศ.2503 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ริกเตอร์ที่ชายฝั่งชิลี ถือเป็นระดับรุนแรงมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกสถิติแผ่นดินไหว ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 10 เมตร พัดข้ามทวีปไปถึงชายฝั่งญี่ปุ่น แต่โชคดีในอดีตชาวบ้านไม่นิยมอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเพียง 2,000 กว่าคน สาเหตุที่เกิดก็เพราะแผ่นเปลือกโลกนาซกา (NAZCA) มุดตัวลงไปในแผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ที่ทับซ้อนกันระยะลึก 20 เมตร หลังจากนั้นนักวิชาการก็ออกมายืนยันว่า กว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับนั้นในชิลีอีกครั้ง ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 500 ปี เพราะแผ่นเปลือกโลกต้องใช้เวลาในการสะสมพลังครั้งใหม่
"ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปแค่ 50 ปีก็เกิดแผ่นดินไหวที่ชิลีอีกครั้ง โดยจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณแผ่นเปลือกโลกใกล้ที่เดิม นักวิชาการด้านนี้วิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะข้อมูลระบุว่ามีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกนาซกาแค่ 4 เมตรเท่านั้น แต่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวระดับเกือบ 9 ริกเตอร์ จากเดิมที่คาดว่าใน 50 ปีมุดตัวไป 4 เมตร ถ้าจะมุดตัว 40 เมตร ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 400-500 ปี เพื่อเกิดพลังสะสมให้เกิดขนาด 8 ริกเตอร์ขึ้นไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเปลือกโลกมุดตัวซ้อนกันไม่ถึง 10 เมตร ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและมีสึนามิแล้ว หมายความว่าสึนามิที่เกิดในภูเก็ตและพังงาอาจเกิดซ้ำอีกครั้งได้ในไม่กี่สิบปีนี้”
ดร.เสรี เล่าว่า
เวลา 13.42 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวที่ชิลี ผ่านไปเพียง 12 นาที มีรายงานอีเมลเตือนมายังศูนย์เตือนภัยในประเทศไทย ส่วนที่ชิลีนั้นคาดว่ามีการเตือนภัยเช่นกัน แต่คงอพยพผู้คนไม่ทัน...แผ่นดินไหวและสึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างเครือข่ายส่งข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลจากทุ่นเตือนภัยที่อินเดีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เพราะถ้ารู้เร็วก็จะเตรียมหนีได้เร็ว
"มีรายงานว่า แผ่นเปลือกโลกชื่อ "ฟิลิปปินส์" ขณะนี้มีการมุดตัวลึกถึง 38 เมตรแล้ว ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะดีดตัวกลายเป็นเแผ่นดินไหวและสึนามิขนาดยักษ์หรือไม่ ระยะนี้หน่วยงานเตือนภัยของไทยต้องพยายามเชื่อมโยงข้อมูลกับฟิลิปปินส์ให้ดีเพราะไทยอยู่ห่างออกมาเพียง 2,000 กิโลเมตร คลื่นยักษ์สึนามิสามารถซัดเข้าชายฝั่งสงขลาได้ในเวลาประมาณ 14 ชั่วโมง" ดร.เสรี กล่าว
อย่างไรก็ตามธรณีพิโรธที่ชิลีครั้งนี้ นอกจากทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวต้องพลิกทฤษฎีเรื่องรอบเวลาการเกิดสึนามิแล้ว ยังส่งผลกระทบสำคัญด้านอื่นคือ นักวิทยาศาสตร์จากนาซาได้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวที่ชิลีแล้ว “แกนรูปทรงของโลก” (Earth's figure axis) ได้เคลื่อนที่ไปประมาณ 8 เซนติเมตร ส่งผลให้เวลาของโลกหดสั้นลง 1.26 ไมโครวินาที ถ้าเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวเมื่อปี 2547 คราวนั้นทำให้แกนโลกขยับไปประมาณ 7 เซนติเมตรและเวลาสั้นลงถึง 6.8 โมโครวินาที...ฟังดูน่าตื่นเต้น หากไม่รู้ว่า 1 ไมโครวินาทีเท่ากับ 1 ในล้านส่วนของวินาที คงไม่มีใครรู้สึกอะไรถ้าเวลาในโลกจะสั้นลงแค่ 1 ในล้านของวินาที !?!
นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย หนึ่งในกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิเคราะห์ว่า
เป็นเรื่องธรรมดาที่หลังแผ่นดินไหวรุนแรงจะทำให้แกนโลกสั่นหรือขยับตัว แต่ไม่ส่งผลให้เวลาบนโลกเปลี่ยนไป เสมือนกับการโยนก้อนหิน 1 ก้อน เข้าใส่ตึก 20 ชั้น ไม่มีใครรู้สึกอะไร
"แกนโลกปกติเอียงที่ 23 องศา 27 ลิปดา แผ่นดินไหวแต่ละครั้งไม่ได้ทำให้แกนโลกเปลี่ยนไป ในอดีตก็มีแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ยังไม่มีเครื่องมือตรวจจับแกนโลกได้ เมื่อเครื่องมือไฮเทคมากขึ้น การตรวจจับก็ละเอียดมากทำให้มีข้อมูลเหล่านี้ออกมา ถือเป็นรายงานทางวิชาการตามปกติ แต่มันเล็กน้อยมากๆ จนแทบจะวัดไม่ได้ และสักพักแกนโลกจะขยับกลับเข้าที่เดิมตามธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบให้ต้องปรับเวลา มนุษย์เพิ่งรู้จักตัวเองมาได้แค่ 5,000 ปี ขณะที่โลกเกิดมานานกว่า 6,000 ล้านปี เพราะฉะนั้นชั่วชีวิตของพวกเราคงไม่มีทางได้เห็นแกนโลกเอียงไปมากกว่า 23 องศา 27 ลิปดาอย่างแน่นอน" นายอารีกล่าวยืนยัน