"วิกฤติทั่วประเทศ"
จากเหตุวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่แผ่กระจายไปทั่วประเทศทั้งภาคกลาง เหนือและอีสาน สร้างความสูญเสียมหาศาลทั้งชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่ถูกน้ำป่าจากดอยอ่างขางถล่มบ้านพังพินาศหลายหลัง ผู้ประสบภัยเสียชีวิตทันที 7 ศพ สูญหายอีกหลายราย ขณะเดียวกัน พื้นที่สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรุงเทพฯระดับน้ำเริ่มปริ่มเท่ากับพนังกั้นน้ำแล้วนั้น
อภิรักษ์ ยังไม่ห่วงน้ำสูง
ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองของ กทม. เมื่อสายวันที่ 10 ต.ค. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ออกตรวจสภาพน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง คือ ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ เขตบางกอกน้อย 160 ครัวเรือน และชุมชนวัดราชผาติการาม เขตดุสิต 95 ครัวเรือน พบระดับน้ำท่วมสูงถึงหัวเข่า และส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว ทำให้ข้าวของภายในบ้านเสียหายเกือบทั้งหมด เช่น ตู้เย็น เตียงนอน ชาวบ้านบางรายบอกว่าทนอยู่ในสภาพนี้มากว่า 2 สัปดาห์ อยากให้ กทม.มายกพื้นหนีน้ำ แต่นายอภิรักษ์ตอบว่าคงทำไม่ได้
นายอภิรักษ์ให้สัมภาษณ์ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณ 3,473 ลบ.ม./วินาที ถือเป็นระดับที่สูง และเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ 33 ชุมชน ราว 2,100 หลังคาเรือน ส่วนกรณีที่กรมชลประทานเตือนเรื่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก และกำชับให้ เตรียมแผนสำรองไว้ใช้นั้น ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ กทม.ได้เตรียมจะใช้ถนนที่เคยเป็นแนวกั้นน้ำเมื่อปี 2538 ที่น้ำท่วมใหญ่กั้นไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน เช่น ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนเจริญนคร ถนนสามเสน
กำชับใช้งบให้โปร่งใส
ต่อมานายอภิรักษ์ได้ประชุมผู้บริหาร กทม. รวมทั้ง ผอ.เขตหลายเขต เช่น มีนบุรี คลองสามวา บางพลัด ชี้แจงถึงปัญหาและอุปสรรคน้ำท่วม โดยทั้งหมดระบุตรงกันว่าน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานานเริ่มเน่า ประชาชนมีอาการคันตามผิวหนัง คันดินเหนียวที่ใช้รถขุดทำเป็นแนวกันน้ำมักจะพังโดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก นอกจากนี้ยังพบปัญหาหลักคือไม้กระดานที่ทำเป็นทางเดินให้ประชาชนถูกขโมยไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำเข้าออก และเจ้าหน้าที่ต้องลงมือซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ที่ประชุมรายงานเรื่องการเบิกจ่ายงบฉุกเฉินที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาท ได้เบิกจ่ายซื้อทราย กระสอบ ไม้กระดาน น้ำมัน ไปแล้ว 47 ล้านบาท โดยนายอภิรักษ์ได้กำชับให้ใช้เงินอย่างโปร่งใส หากภาวะน้ำท่วมรุนแรงจนเงินไม่พอ ผู้บริหารก็จะพิจารณาจัดสรร เงินงบกลางมาใช้จ่ายต่อไป