ไทยเจ๋งผ่าปลาแฝดสยามครั้งแรก

สัตวแพทย์ไทยเจ๋ง ผ่าปลาอโรวาน่าแฝดสยาม สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย และอาจเป็นครั้งแรกของโลก ด้วยอายุปลาเพียง 2 เดือน จากฟาร์มแปดริ้ว

ที่เพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าทองมาเลย์ ซึ่งแพงที่สุดในโลก เจ้าของส่งให้สัตวแพทย์ชื่อดังที่จุฬาฯ สภาพสมบูรณ์ดี เกิดจากไข่ใบเดียวกันแต่แยกตัวไม่สมบูรณ์ เจ้าของให้อาหารเลี้ยงดูอยู่นาน แต่ว่ายน้ำไม่ได้เกรงว่าตัวอ่อนแอจะตาย หมอใช้เวลาผ่าตัดนานครึ่งชั่วโมง พบเนื้อปลาติดกัน 7 ม.ม.

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดเผยว่า ได้ผ่าตัดปลาอโรวาน่าแฝดสยาม ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และอาจเป็นครั้งแรกของโลก เตรียมข้อมูลการผ่าตัดดังกล่าวเพื่อตีพิมพ์เป็นงานวิจัยออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยปลาอโรวาน่าแฝดสยามคู่นี้ได้รับมาจากนายไพโรจน์ อิ่มสมบัติ เจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่า บางกอก อโรวาน่า บรีดดิ้ง ฟาร์ม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเจ้าของส่งปลาแฝดสยามคู่ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์ทางงานวิจัย เนื่องจากเป็นกรณีที่พิเศษหาพบได้ยาก

ส.พญ.นันทริกากล่าวว่า ในครั้งแรกที่ได้รับมาปลาแฝดสยามดังกล่าวอยู่มีสภาพแข็งแรงพอสมควร

เนื่องจากเจ้าของป้อนอาหารให้ปลาแฝดสยามทั้งคู่เป็นเวลานาน 2 เดือน ก่อนส่งมาให้ที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ โดยปลาแฝดสยามไม่สามารถว่ายน้ำได้ ต้องนอนอยู่ที่พื้นตู้ตลอดเวลา แต่เป็นปลาที่มีลักษณะสมบูรณ์ทุกประการ เป็นแฝดเหมือนที่เกิดจากไข่ฟองเดียวกัน แต่แยกตัวไม่สมบูรณ์ ส่วนท้องมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน คลายแฝดอิน-จัน แฝดสยามในอดีตของไทย ที่มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก หลังจากเลี้ยงดูปลาแฝดสยามคู่ดังกล่าวจนแข็งแรงขึ้นแล้ว จึงเริ่มดำเนินการเตรียมการผ่าตัด ด้วยการนำปลาแฝดสยามไปเอกซเรย์

ส.พญ.นันทริกากล่าวต่อว่า อวัยวะภายในทั้งคู่แยกส่วนกันและสมบูรณ์ดี เพียงแต่ไม่เห็นถุงลม

ที่ปกติจะมองเห็นเป็นสีดำในช่องท้องเมื่อมองผ่านฟิล์มเอกซเรย์ ทำให้กังวลว่าเมื่อผ่าตัดแยกกันสำเร็จแล้ว ปลาแฝดสยามจะมีชีวิตรอดได้นานเท่าไร เพราะหากไม่มีถุงลมปลาจะว่ายน้ำไม่ได้ต้องนอนอยู่เพียงอย่างเดียว แต่คิดว่าแม้จะว่ายน้ำไม่ได้ แต่ทั้งคู่ยังมีอิสระในการใช้ชีวิต และยังสามารถฝึกให้ตั้งตัวตรงเพื่อเคลื่อนไหวบริเวณพื้นได้ และในที่สุดตัดสินใจลงมือผ่าตัด เนื่องจากหากปล่อยไว้ให้เป็นปลาแฝดสยามต่อไป จะต้องมีตัวที่อ่อนแอกว่าตายไปในที่สุด

"ก่อนหน้านี้จะมีสัตว์แฝดสยามมาให้ผ่าตัดบ่อยเหมือนกัน แต่เป็นอะไรที่หมอจะกลัวกันมาก เพราะไม่รู้ว่ามีอวัยวะส่วนไหนเชื่อมกันอยู่บ้าง ต้องให้สารทึบรังสี หรือแป้งแบเรี่ยม เพื่อตรวจดูว่าอวัยวะส่วนใดเชื่อมกันบ้าง และยังต้องทดสอบหลายขั้นตอน ส่วนใหญ่สัตว์จะตายก่อนที่จะเข้าผ่าตัด เพิ่งมีครั้งนี้ที่สำเร็จส่วนหนึ่งเพราะปลาแฝดสยามคู่นี้มีร่างกายที่แข็งแรง เมื่อมั่นใจว่าไม่มีอวัยวะสำคัญเชื่อมต่อกัน เราเตรียมการทุกอย่างเพื่อผ่าตัดในวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาผ่าตัดนานครึ่งชั่วโมง เริ่มจากการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้อดอาหารเป็นเวลา 2 วัน เมื่อผ่าทั้งคู่ออกจากกันแล้ว พบว่าเนื้อเยื่อช่องท้องเชื่อมติดกันยาวประมาณ 7 ม.ม. จึงต้องใช้ไหมละลายขนาดเล็กที่ใช้สำหรับเย็บนัยน์ตามนุษย์ จากนั้นรอจนฟื้นตัวแล้วให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้วิตามินบำรุงจนแข็งแรง" ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำกล่าว

ส.พญ.นันทริกากล่าวอีกว่า ปลาแฝดสยามทั้งคู่หลังผ่าตัดฟื้นตัวได้เร็วมาก ช่วงแรกยังต้องป้อนอาร์ทีเมียหรือไรทะเลให้ และช่วยทำกายภาพบำบัด ด้วยการใช้ฟอร์เซป หรือปากคีบ

คอยพยุงให้ตั้งตรง เพื่อให้ปลาแฝดสยามทั้งคู่รู้จักใช้กล้ามเนื้อหางโบกสะบัด เป็นการเรียนรู้ว่าการว่ายน้ำที่แท้จริงเป็นอย่างไร คาดว่าปลาทั้งคู่มีถุงลมอยู่แล้ว เมื่อมีการออกกำลังทำให้ถุงลมอยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานตามธรรมชาติ โดยเมื่อถึงช่วงเย็นวันที่ 11 ม.ค. ปลาทั้งคู่เริ่มพยุงตัวเองได้ และไล่กินอาหารด้วยตัวเองในวันที่ 12 ม.ค.

"ทีมงานรู้สึกดีใจมากเมื่อเห็นปลาแฝดสยามทั้งคู่เริ่มกินอาหารเองได้ ยิ่งมีการขับถ่ายของเสียออกมายิ่งดีใจ เพราะเป็นสัญญาณที่ดีว่าปลาทั้งคู่รอดชีวิตแล้ว เหมือนคนหายป่วยที่รับประทานอาหารได้ และระบบขับถ่ายสมบูรณ์ ครั้งแรกที่เจ้าของส่งมามีจุดประสงค์เพื่องานวิจัยเป็นหลัก แต่เมื่อปลาทั้งคู่แข็งแรงสมบูรณ์ดี คงจะส่งคืนเจ้าของ เพราะเป็นปลาที่มีราคาแพงมาก การผ่าตัดครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ผ่าตัดปลาแฝดสยามสำเร็จ แต่ไม่ทราบว่าต่างประเทศเคยมีการผ่าตัดมาก่อนหรือไม่ ขณะนี้เตรียมรวบรวมข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อเสนอเป็นงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป" ส.พญ.นันทริกากล่าว

ด้านนายไพโรจน์ เจ้าของปลาแฝดสยามเปิดเผยว่า ปลาคู่ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ทองมาเลย์ ที่มีราคาแพงที่สุดในปลาอโรวาน่า บางกอก อโรวาน่า บรีดดิ้ง ฟาร์ม

จดทะเบียนเพื่อเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และถือเป็นฟาร์มแรกในประเทศไทยที่เพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าทองมาเลย์สายพันธุ์ตรงออกมาได้ ส่วนใหญ่ปลาสายพันธุ์นี้จะนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น สำหรับปลาแฝดสยามดังกล่าวง้างออกมาจากปากพ่อแม่พันธุ์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 โดยมีปลาแฝดสยามทั้งสิ้น 3 คู่ ตายไปเมื่อออกมาได้ไม่กี่วันไป 1 คู่ ส่วนที่เหลือป้อนอาหารเลี้ยงมาด้วยกันจนตายไปก่อนหน้าที่จะส่งไปให้ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำเพียงไม่กี่วัน

นายไพโรจน์กล่าวถึงเหตุผลที่ส่งปลาแฝดสยามไปผ่าตัดว่า เนื่องจากปลาอโรวาน่าเป็นปลาที่มีราคาแพง

และส่วนใหญ่ในต่างประเทศจะเลี้ยงเป็นปลาแฝด ไปจนกว่าจะตายทั้งคู่ หรือตัวใดตัวหนึ่งตาย แต่เห็นว่าเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง ประกอบกับร่วมงานกับส.พญ.นันทริกา ในการวิจัยเรื่องปลาอโรวาน่ามานาน จึงส่งให้ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำนำไปทำงานวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และเมื่อปลาแฝดสยามทั้งคู่ผ่าตัดสำเร็จและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีจึงเตรียมไปรับกลับ เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป เนื่องจากจำนวนลูกปลาอโรวาน่าสายพันธุ์ทองมาเลย์ในเมืองไทยยังมีอยู่น้อยมาก

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์