undefined
ประมวลภาพทั่วโลก - เมื่อเวลา 14.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย)ประมวลภาพทั่วโลก - สุริยคราสวงแหวนครั้งยาวนานที่สุดของสหัสวรรษ 11 นาที 8 วินาที รายงานข่าวแจ้งว่าสุริยคราสวงแหวนครั้งยาวนานที่สุดของสหัสวรรษเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม โดยนักดาราศาสตร์ระบุว่ามัลดีฟส์เป็นทำเลที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการรับชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศ (นาซา) ของสหรัฐระบุไว้บนเว็บไซต์ว่า สุริยคราสครั้งนี้เป็นรูปวงแหวน ซึ่งหมายถึงดวงจันทร์จะบดบังส่วนใจกลางของดวงอาทิตย์เกือบทั้งหมดเหลือเพียงส่วนขอบเท่านั้นส่งผลให้จะเห็นเป็นรูปทรงเหมือนวงแหวน โดยดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์อยู่นาน 11 นาที 8 วินาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นาซาระบุว่ายาวนานที่สุดและสถิตินี้จะไม่ถูกทำลายจนกว่าจะถึงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.3586 นาซาระบุว่าประเทศในแถบทวีปแอฟริกาตอนกลาง มัลดีฟส์ ตอนใต้ของอินเดีย ตอนเหนือของศรีลังกา บางส่วนในพม่าและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะสามารถมองเห็นเป็นรูปวงแหวนได้ ขณะที่ในทวีปแอฟริกาที่เหลือ แถบตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกจะเห็นเป็นสุริยคราสบางส่วน นักดาราศาสตร์ระบุว่า เกาะมาเลของประเทศมัลดีฟส์ซึ่งอยู่ใน มหาสมุทรอินเดียเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับชมสุริยคราสครั้งนี้ซึ่งจะเห็นได้ยาวนานกว่า 10 นาที สุริยคราสครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเวลา 05.14 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (จีเอ็มที) หรือตรงกับ 12.14 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยสาธารณรัฐแอฟริกากลางเป็นประเทศแรกในโลกที่จะเห็น และจะบดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงเวลาประมาณประมาณ 07.00 น.ตามเวลาจีเอ็มที หรือ 14.00 น. ในไทยและจะสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ในเวลา 10.07 น.ของเวลาจีเอ็มทีหรือ 17.07 น. ในไทย ข่าวระบุว่าสุริยคราสวงแหวนครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ที่ลานร่ม สวนเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สดร. ได้จัดงาน "สุริยุปราคา 15 มกราคม 2553" มีการติดตั้งกล่องจุลทรรศน์ส่องดวงอาทิตย์ 10 จุด พร้อมแจกแว่นดูดวงอาทิตย์ และอุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์แก่ผู้สนใจ ก่อนส่งสัญญาณถ่ายทอดผ่านดาวเทียมไปประเทศจีน โดยพบปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนแบบเต็มดวง ก่อนจีนส่งสัญญาณกลับไทยเพื่อร่วมชมพร้อมกัน ท่ามกลางนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและประชาชนร่วมชม 1,000 คน ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เริ่มตั้งแต่เวลา 13.59 น. และสิ้นสุดเวลา 17.03 น. นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า สุริยุปราคาแบบวงแหวน มีเส้นทางแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300กิโลเมตร ตลอดเส้นทางแนวคราสใช้เวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที แนวคราสวงแหวนเริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย จากนั้นจะผ่านทวีปเอเชีย สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนสามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ยุโรปตะวันออก ทวีปแอฟริกา เอเซียและอินโดนีเซีย "ชาวเชียงใหม่โชคดีสามารถสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังร้อยละ 73.6 ของพื้นที่อาทิตย์ ซึ่งเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ รองจากแม่ฮ่องสอน ที่ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังร้อยละ 77 และเกิดสุริยุปราคานานที่สุดในภาคเหนือ คือ 3 ชั่วโมง 6 นาที ตามด้วยเชียงราย ร้อยละ 75.3 คิดเป็น 3 ชั่วโมง 2 นาที" นายบุญรักษา กล่าว วันเดียวกัน ที่บริเวณลานวิดยาดินแดง หลังภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาควิชาฟิสิกส์ ได้จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเฝ้าสังเกตการณ์สุริยุปราคา มีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมชมประมาณ 100 คน ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดสงขลาสามารถมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.58 น. – 16.47 น. จะสังเกตเห็นสุริยุปราคาบางส่วนได้มากที่สุด 40% ในเวลาประมาณ 15.30 น. โดยที่สุริยุปราคาครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 แต่จะสามารถมองเห็นได้เพียงเล็กน้อย จากนั้นต้องรอนานถึง 4 ปี จะเกิดสุริยุปราคาในประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม 2559 นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ประธานกรรมการบริหารโปรแกรมวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา กล่าวว่า ปรากฎการณ์สุริยุปราคาวงแหวน ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน โดยเริ่มเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งในเวลา 14.00น. จนถึง 16.58 น. แม้จะเห็นได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ในภาคใต้จะมองเห็นการบดบังในอัตราน้อยที่สุดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งอยู่ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างจะยิ่งเห็นปรากฏการณ์ได้น้อยลง จึงเหมือนไม่ได้มองเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาจึงไม่จัดกิจกรรมชมสุริยปราคาในจังหวัดสงขลา แต่ได้ไปร่วมรอชมปรากฏการณ์ที่จังหวัดทางภาคใต้ตอนบนแทน
นาวาเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดและนานที่สุด ในช่วงเวลาตั้งแต่ 14.00 น. -17.00 น. ของวันที่ 15 มกราคม 2553 โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมชมปรากฏการณ์เป็นจำนวนมากสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน เกิดขึ้นยาวนานที่สุดในรอบสหัสวรรษที่ 3 หรือระหว่างปี ค.ศ.2000-2999 (พ.ศ.2543-3542) มีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว่า 300 กิโลเมตร ใช้เวลาในการคราสประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที เริ่มต้นที่แอฟริกา ผ่านคิงโก ยูกันดา เคนยา และโซมาเลีย จากนั้นจึงเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ทวีปเอเชีย บังคลาเทศ อินเดีย พม่า และประเทศจีน
สำหรับประเทศไทยจะสังเกตุเห็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน ได้จากทั่วทุกภูมิภาค ในเวลาที่แตกต่างกัน โดยดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดถึง 77% สังเกตุได้ชัดเจนบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ขณที่ช่วงเวลาที่มองเห็นชัดที่สุด 15.30 น.ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเฝ้าชมปรากฏการสุริยุปราคา หน้าลานพระบรมรูปสองรัชกาล โดยตั้งกล้องโทรทรรศน์ พร้อมแผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์ ให้บริการสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมชมสุริยุปราคาร่วมกัน