เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ทั่วโลกต้อนรับปีใหม่ 2553 ค.ศ.2010 ด้วยการจุดดอกไม้ไฟเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง นอกจากนี้ยังเห่อปรากฏการณ์ "บลู มูน" หรือพระจันทร์เต็มดวงในช่วงเปลี่ยนศักราชที่หาได้ยากอีกด้วย
เอพีรายงานว่า บลู มูน ไม่ได้หมายถึงพระจันทร์สีฟ้า แต่เป็นช่วงที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ในเดือนเดียว โดยครั้งก่อน พระจันทร์เต็มดวงไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2552 ครั้งนี้ผู้คนในย่านไทม์สแควร์ ใจกลางนครนิวยอร์กได้ฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ นิวเยียร์ อีฟ ในวันที่ 31 ธ.ค. ชมพลุและพระจันทร์เต็มดวงไปพร้อมๆ กัน ทั่วสหรัฐ แคนาดา ยุโรป อเมริกาใต้ และแอฟริกา ส่วนผู้คนที่ฉลองปีใหม่ในเอเชียและออสเตรเลีย ได้ชมบลูมูนในวันเริ่มต้นปีใหม่พอดี
สำหรับบลูมูนในคืนวันที่ 31 ธ.ค. หรือนิวเยียร์ อีฟ จะเกิดทุกๆ 19 ปี ครั้งก่อนเกิดในปีค.ศ.1990 และครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปีค.ศ.2028
สำหรับประเทศไทย นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในประเทศไทย จังหวะช่วงรอยต่อคืนวันที่ 31 ธ.ค.2552 ต่อเนื่องวันที่ 1 ม.ค. 2553 โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าเงามัว เวลา 00.17.07 น. การเริ่มเข้าเงามัวจะเห็นแสงคล้ำลดลงเล็กน้อยสังเกตยาก จากนั้นเริ่มเข้าเงามืดใน เวลา 01.52.44 น. เริ่มเห็นดวงจันทร์ด้านใต้แหว่งไปเกือบ 10 เปอร์เซนต์ ให้สังเกตให้ดี และเข้ากึ่งกลางคราส 02.23.45 น. ออกจากเงามืด 02.52.42 น. และออกจากเงามัว 04.28.15 น.
ประเทศที่เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ ได้แก่ ประเทศในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป
ในประเทศไทย เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้โดยตลอด การเกิดตรงช่วงเคาต์ดาวน์อย่างนี้จะเห็นได้น้อยครั้ง สำหรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งต่อไปคือจะเกิดสุริยุปราคาวงแหวน แต่เมืองไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 15 ม.ค.2553