ต่างชาติหวั่นข่าวลือ เทกระจาดขายหุ้นเกือบ 4,000 ล้าน ทำหุ้นไทยดิ่ง 15 จุด สวนทางกับทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค เลขาฯสมาคม นักวิเคราะห์ ชี้นักลงทุนยังอยู่ในภาวะกล้า ๆ กลัว ๆ ซ้ำยังมีปัจจัยภายในประเทศ กระทบกับความเชื่อมั่น ทั้งปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังเอ็นจีโอจ่อฟ้องศาลระงับอีก กว่า 500 โครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการ ลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันที่ 14 ต.ค. ดัชนีแกว่งตัวผันผวน แต่ส่วนใหญ่อ่อนตัวในแดนลบ ซึ่งดิ่งแรงในช่วงบ่าย หลังมีกระแสข่าวลือเกิดขึ้น ทำให้ประเทศชาติเสียหายและนักลงทุนหวาดวิตกและต่างเทขายทำกำไรออกมาก โดยดัชนีเปิดตลาดที่ 751.90 จุด ทะยานขึ้นสูงสุดที่ 752.22 จุด ลดลงต่ำสุดที่ 714.39 จุด และระหว่างวันลดลงต่ำสุดที่ 32.28 จุด ก่อนมาปิดตลาดที่ 731.47 จุด ลดลง 15.20 จุด หรือ 2.04% ด้วยมูลค่าซื้อขายคึกคัก 47,570.50 ล้านบาท ซึ่งสูงสุด 2 ปี 10 เดือน จากวันที่ 20 ธ.ค. 49 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 55,217.97 ล้านบาท ส่วนตลาดเอ็มเอไอปิดที่ 207.84 จุด ลดลง 4.62 จุด มูลค่าซื้อขาย 1,567.70 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายเทขาย สุทธิที่ 3,975.07 ล้านบาท นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิที่ 124.92 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิที่ 4,100.00 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลงแรงสวนทางกับทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค เกิดจากการปรับฐานหลังจากที่ดัชนีเพิ่มขึ้นแรงจากต้นปีถึง 65% อีกทั้งปริมาณการซื้อขายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน จึงส่ง ผลให้ดัชนีเกิดการปรับฐานเป็นระยะ และเคลื่อนไหวผันผวนบ้าง แต่หากพิจารณาจากประเด็นอื่นยังไม่มีเหตุผลใดเป็นพิเศษที่เข้ามากระทบต่อการปรับตัวลงของดัชนี
ด้าน นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิ การสมาคมนักวิเคราะห์ กล่าวว่า หากพิจารณาตามพื้นฐาน สาเหตุที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรง เป็นผลมาจากในช่วงที่ผ่านมาดัชนีปรับขึ้นมากล่าสุดเกือบ 100% แล้ว ซึ่งตนเคยวิเคราะห์ว่าหากดัชนีแตะระดับ 760 จุด หรือปรับขึ้น 100% จากช่วงต่ำสุดในปี 51 เป็นระดับที่เสี่ยงจะเกิดฟองสบู่ ที่ดัชนีจะปรับลดลงแรง เพราะแม้ดัชนีจะปรับขึ้นมาก แต่นักลงทุนก็ยังอยู่ในภาวะกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะลงทุน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่อาจจะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน เช่น ความไม่แน่นอนของ ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมีทีท่าจะยืดเยื้อ เพราะมีกลุ่มองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอจะไปยื่นคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐ และอาจจะยื่นฟ้องศาลปกครองให้ระงับอีกกว่า 500 โครงการ.