นายสุรเชษฐ์ พินเอี่ยม ผู้ที่พบช่วยเหลือเต่าขณะนอนเกยชายหาด กล่าวว่า หลังจากที่ตนกลับจากเข้าเวรประจำวันที่มูลนิธิภูเก็ตร่วมใจกู้ภัย ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อที่จะเดินทางกลับบ้านพักใน ต.กะรน ก็มีนักท่องเที่ยวโทรศัพท์มาบอกว่า ขณะเดินออกกำลังกายอยู่ที่ชายหาดกะรน พบเต่าเกยชายหาดอยู่ 1 ตัว จึงรีบขับรถไปดู และพยายามนำเต่าให้กลับลงสู่ทะเล หลายครั้ง แต่มันไม่สามารถว่ายน้ำช่วยเหลือตัวเอง พบว่าที่บริเวณแขนหน้าด้านขวามีรอยบาดแผลเป็นทางยาว และที่หางมีรอยถลอก จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยฯทราบ และนำเต่าไปรักษาและตรวจดูอาการ ซึ่งคาดว่าสาเหตุที่เต่าไม่สามารถว่ายกลับลงสู่ทะเลได้ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บเพราะถูกอวนชาวประมงหรือคลื่นลมแรง จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงลอยมาเกยชายหาดกะรนดังกล่าว อย่างไรก็ตามในช่วงหน้ามรสุมนี้ ชายหาดกะตะ-กะรน ต.กะรน มีเต่าขึ้นมาเกยชายหาดแล้ว 3 ตัว ซึ่งทุกตัวได้รับบาดเจ็บจากเศษอวนติดและฝีมือของชาวประมงทั้งสิ้น
เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 5 ต.ค. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งว่าพบเต่าน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัมถูกคลื่นซัดมาเกยหาดที่บริเวณชายหาดกะรน ใกล้กับโรงแรมเมอเวนฟิค ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตว์แพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต จึงรุดไปตรวจสอบพบนักท่องเที่ยวกำลังมุงดูเต่าตัวดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า เต่าตัวดังกล่าวเป็นเต่าตนุ เพศผู้ อายุประมาณ 50- 60 ปี มีความยาวลำตัว 95 เซนติเมตร กว้าง 84 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม มีแผลยาวที่บริเวณแขนขวาด้านหน้า มีรอยแผลถลอกที่บริเวณหาง และเต่าอยู่ในอาการเพลีย อาการเครียด จึงรีบฉีดวิตามินให้ 1 เข็ม ก่อนนำกลับไปรักษาและดูอาการต่อที่สถาบันวิจัยฯ ซึ่งหลังจากนี้ให้ยาปฏิชีวนะและยาบำรุง และจะต้องรอดูอาการอีกระยะ ส่วนสาเหตุที่มาเกยหาด เนื่องจากขณะนี้ฝั่งทะเลอันดามัน มีคลื่นลมแรงคลื่นในทะเลสูงมาก จึงถูกพัดเข้ามาเกยฝั่งดังกล่าว ส่วนบาดแผลนั้นไม่รุนแรง แต่ต้องเจาะเลือดเพื่อดูอาการว่ามีโรคติดเชื้อภายในหรือไม่ หากแข็งแรงดีก็ปล่อยกลับสู่ท้องทะเลได้ในที่สุด