แค่อาทิตย์เดียว หวัดคร่าอีก16

สธ.เผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตใหม่ 16 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 97 ราย เผยแนวโน้มการระบาดในเขตกทม.-ปริมลฑลลดลง ระดับภูมิภาคบางจังหวัดเริ่มชะลอตัว บางจังหวัดเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ป่วยอายุ 6-20 ปี ติดเชื้อน้อยลง เตรียมทดลองฉีดวัคซีนโดสแรกอาสาสมัครครั้งแรก 4 ก.ย.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข


เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือการเข้าถึงยาซานามิเวียร์ และการสำรองใช้ภายในประเทศ ระหว่าง น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กับนายเนมี่ ลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (จี เอสเค)

น.พ.วิทิต กล่าวว่า

อภ.ได้รับเป็นผู้แทนในการจำหน่ายยาซานามิเวียร์ให้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศแต่เพียงผู้เดียว มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากยาซานามิเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษเช่นเดียวกับยาโอเซลทามิเวียร์ ส่วนปริมาณการสั่งซื้อยานั้น ต้องพิจารณาอีกครั้งว่า อภ.จะสั่งซื้อในปริมาณเท่าใด แต่เบื้องต้นขณะนี้ประเทศไทยมียาซานามิเวียร์สำรองอยู่แล้ว 20,000 ชุด ที่กรมควบคุมโรค โดยเบิกจ่ายยาไปใช้แล้วประมาณ 5 ชุดรักษา จากศิริราช จุฬาฯ แต่จะยังไม่มีการกระจายยาชนิดนี้ให้โรงพยาบาลรัฐต่างๆ เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยจะให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประ เสริฐ ทองเจริญ เป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐอย่างไร โดยขณะนี้กระจายไปแล้ว 9 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้สต๊อกยามีเหลืออยู่ที่อภ. 6 ล้านเม็ด และกรมควบคุมโรค 6 แสนเม็ด วัตถุดิบพร้อมผลิต 30 ล้านเม็ด ขณะนี้มีรายงานการใช้ยาจากโรงพยา บาลต่างๆ กลับมา 600 แห่ง จาก 1,021 แห่งซึ่งกำลังเร่งรวบรวมปริมาณการใช้จริง

วันเดียวกัน น.พ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 มีผู้ป่วยเสียชีวิตใหม่ในรอบสัปดาห์ 16 ราย เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 97 ราย โดย 11 รายมีโรคประจำตัว เรียงตามลำดับ คือ เบาหวาน หัวใจหลอดเลือด โรคไต โรคปอด และตั้งครรภ์ 1 ราย ค่าเฉลี่ยการได้รับยาเร็วขึ้นเป็น 5-6 วัน จากเดิม 7 วัน โดยร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิต เริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านสู่คลินิก เชื่อมั่น 3-4 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้เริ่มชะลอตัวและจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้

น.พ.ไพจิตร์ กล่าวว่า

แนวโน้มการระบาดในเขตกทม.และปริมลฑลขณะนี้ลดลง โดยพิจารณาจากปริมาณผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาล ส่วนในระดับภูมิภาคบางจังหวัดชะลอตัว บางจังหวัดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยอายุ 6-20 ปี มีการติดเชื้อน้อยลง สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการคัดกรองและมาตรการต่างๆ เช่น หยุดอยู่บ้านเมื่อป่วย เริ่มเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ส่วนกลุ่มเกษตรกรมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แสดงให้เห็นว่าต้องรีบป้องกันเชื้อในชุมชน โดยมีการเร่งให้อาสาสมัครเร่งคัดกรองผู้ป่วย เพื่อป้องกันการระบาดและแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งจะเข้าร่วมเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ หลังจากเข้าร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปแล้ว จะมีการเข้าร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพมากกว่า

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการ วิจัยในมนุษย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า
 
มีมติให้เดินหน้าโครงการวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิต โดยจะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดโครงการอีกเล็กน้อยเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสุดท้าย ในเรื่องของข้อมูลที่จะให้กับอาสาสมัครผู้ร่วมทดลองวัคซีนทราบถึงผลการทดลองในสัตว์ อาทิ หนูทดลองของประเทศรัสเซีย และเฟอร์เร็ตในประเทศเนเธอร์แลนด์ว่ามีความปลอดภัยทราบด้วย

น.พ.วิชัย กล่าวว่า

ได้รับรายงานล่าสุดจากห้องปฏิบัติการว่า วันที่ 12 ส.ค. เป็นวันที่ อภ.ถือฤกษ์ชัยในการเก็บเกี่ยววัคซีนที่นำไปเพาะในไข่บริสุทธิ์ที่ห้องปฏิบัติการเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น 4-5 วัน จึงจะทราบผลว่าสามารถเก็บเกี่ยววัคซีนได้ในปริมาณเท่าใด แต่วัคซีนที่ผลิตได้ในรุ่นนี้จะยังไม่นำไปฉีดทดลองในอาสาสมัคร เพราะเป็นเพียงการผลิตวัคซีนต้นแบบเท่านั้น โดยปริมาณเชื้อไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีน และนำมาทดลองในมนุษย์จะใช้ประมาณ 10 ยกกำลัง 6.5 หรือ 6.5 ล็อก และ 10 ยกกำลัง 7.5 หรือ 7.5 ล็อก จากนั้นจะส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจการไม่ปนเปื้อนใช้เวลานาน 7 วัน หากปราศจากการปนเปื้อน ก็จะนำไปบรรจุในบรรจุภัณฑ์ และนำเข้าทดสอบอีกครั้งใช้เวลานาน 7 วันเช่นกัน หากวัคซีนปลอดภัย จึงจะนำมาฉีดให้อาสาสมัคร คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับอาสาสมัครทดลองวัคซีนที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้ครั้งแรกในวันที่ 4 ก.ย.หากล่าช้าก็คงประมาณ 5-7 ก.ย.นี้

น.พ.วิชัย กล่าวต่อว่า

สำหรับการทดลองวัคซีนในมนุษย์นั้นจะมี 2 ครั้ง คือ อาสาสมัครกลุ่มแรก 24 คน หากวัคซีนปลอดภัยจึงจะนำมาทดลองในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ 400 คน สำหรับการทดลองในอาสาสมัคร 24 คนแรกนั้น ทีมวิจัยจะแบ่งเป็นกลุ่มละ 12 คน กลุ่มแรก 9 คน จะได้รับวัคซีนในปริมาณ 6.5 ล็อก อีก 3 คนจะได้รับวัคซีนหลอก ส่วนกลุ่มที่สอง 9 คน จะได้รับวัคซีน 7.5 ล็อก และอีก 3 คนจะได้วัคซีนหลอก โดยข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีใครทราบแม้กระทั่งนักวิจัย และจะเปิดเผยข้อมูลต่อเมื่องานวิจัยได้เก็บข้อมูลเสร็จสิ้นทั้ง หมดเพื่อป้องกันอคติในการวิจัย ขณะเดียวกัน ได้มีการประกันชีวิตให้กับอาสาสมัครที่ร่วมทดลองเป็นเงินประกัน 5 แสนบาทต่อคน

"อาสาสมัครร่วมทดลองวัคซีนได้รับการฉีดวัคซีนเป็นครั้งแรกจะต้องอยู่ค้างคืนที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นเวลา 7 วัน และมีการสำรวจอาการต่างๆ อย่างละเอียด วัดอุณหภูมิว่าตัวร้อนเกิน 37 องศาเซลเซียสทุก 4 ชั่วโมง มีการเจ็บคอ ไอ และอาการอื่นใดหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจเลือด ตรวจเม็ดเลือดแดงและขาว เพื่อดูการกระตุ้นภูมิต้าน และยังต้องนำน้ำล้างโพรงจมูกว่ามีเชื้อโรคออกมามากน้อยเพียงใด จากนั้นอนุญาตให้กลับไปพักที่บ้าน แต่ต้องมาพบแพทย์ทุก 7 วัน เมื่อครบ 21 วัน ก็จะมีการ ฉีดวัคซีนอีกเป็นครั้งที่ 2 ก็ต้องมาพักค้างคืน ที่คณะเวชศาสตร์ฯ อีก 7 วัน เพื่อดูอาการ เช่นเดิม พอครบ 28 วัน จะมีการนำข้อมูลมาตัดสินเบื้องต้นว่าปลอดภัยเพียงพอต่อการทด ลองในอาสาสมัคร 400 คนต่อไปหรือไม่" น.พ. วิชัยกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์