คมชัดลึก : เด็กหญิงวัย 4 ขวบที่ยะลาโชคร้ายติดเชื้อเอชไอวีจากการรับเลือด เพื่อช่วยยื้อชีวิตในวัยแรกเกิด กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมของครอบครัว ที่ต้องแบกรับความทุกข์ทรมานจากเคราะห์กรรรมที่พวกเขาไม่ได้ก่อ แต่ครอบครัวนี้ไม่ใช่ครอบครัวแรกที่ต้องทนฝืนยอมรับชะตากรรมอันโหดร้ายเช่นนี้ !
เมื่อ 5 ปีก่อนเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อเด็กหนุ่มวัย 15 ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง ต้องรับเลือดจากโรงพยาบาลเป็นประจำและปรากฏว่าได้รับเชื้อเอชไอวี เช่นเดียวกับที่ จ.บุรีรัมย์ หนุ่มใหญ่วัย 35 ฟ้องร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเป็นเงิน 10 ล้านบาท หลังจากภรรยาตกเลือดและรกค้างระหว่างคลอด จึงต้องรับเลือดเพื่อยื้อชีวิต แต่ในที่สุดทั้งแม่และลูกก็จากโลกไปด้วยโรคเอดส์จากการให้เลือดในวันคลอด...นั่นเอง
กรณีปัญหาผู้ป่วยรับเลือดติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่แฝงมากับเลือด แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ผู้รับเลือดทุกคนล้วนอยู่ในสภาวะเสี่ยง เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้นกับชีวิตผู้รับเลือดที่มีผู้หวังดีบริจาคมา โรงพยาบาล สภากาชาดไทย หรือผู้บริจาคโลหิต ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ?
"ในต่างประเทศผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคจากการรับเลือดเคยฟ้องร้องผู้บริจาคเลือดนะ แต่เมืองไทยคงทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครกล้ามาบริจาคเลือด มีแต่แพทย์และโรงพยาบาลที่ถูกฟ้องร้อง แม้ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อจากเลือดของเราจะได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลกก็ตาม" พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ระบุ
การตรวจเลือดที่รับบริจาคจะตรวจหาเชื้อโรค 4 ชนิด ได้แก่ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบีและซี และเชื้อเอดส์ ทว่า พญ.สร้อยสอางค์ให้ความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับน้ำยาตรวจด้วยว่ามีคุณภาพดีมากเพียงใด เนื่องจากที่มีอยู่จะสามารถตรวจหาเชื้อจากผู้ที่ได้รับเชื้ออย่างน้อย 22 วันขึ้นไป หากผู้บริจาคได้รับเชื้อก่อนหน้าบริจาคโลหิตไม่เกิน 22 วันก็ตรวจไม่พบเชื้อ เพราะเชื้ออยู่ระหว่างการฟักตัว แม้ขณะนี้จะมีน้ำยาตรวจหาเชื้อเร็วที่สุด 11 วัน แต่ก็เสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ทำได้ง่ายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ ที่แฝงมากับเลือดที่รับบริจาคในราคาแพง แถมลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วยที่รับเลือด น่าจะเป็นการตอบคำถามด้วยความเป็นจริงใจในใบคัดกรองเบื้องต้น 25 คำถาม หากใครมีพฤติกรรมเสี่ยงก็ไม่ควรบริจาคโลหิต
โดยเฉพาะหมวดที่ 2 ข้อ 12 เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
12.1 ท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่นอนของท่าน
12.2 ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (ตอบเฉพาะชาย)
12.3 คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
12.4 คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (ตอบเฉพาะเพศหญิงที่มีคู่เป็นชาย)
ปัจจุบันสภากาชาดไทยมีเลือดที่รับบริจาคร้อยละ 2 ที่ตรวจพบโรคต่างๆ อาทิ ไวรัสตับอักเสบบีพบมากเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้เป็นไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งการตรวจพบเชื้อเอชไอวีครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่พบมาจากกลุ่มคนรักร่วมเพศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ บอกว่า แม้สภากาชาดไทยต้องการเลือด แต่ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องคุณภาพ จึงอยากให้ผู้บริจาคมีความรับผิดชอบต่อสังคม การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตตามแบบสอบถาม ไม่ได้เป็นการแบ่งแยกหรือกีดกันทางเพศ เพียงแต่อยากแจ้งให้ทราบว่า ก่อนการบริจาคโลหิต หากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต้องไม่บริจาคโลหิต เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน
"การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตก่อนรับบริจาค ผู้บริจาคต้องตอบแบบสอบกว่า 20 คำถาม ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อคัดกรองความเสี่ยงทั้งตัวเองและผู้อื่น เช่น เรื่องน้ำหนัก อายุ โรคประจำตัว ประวัติสุขภาพ พฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าเพศชาย หญิง หรือกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงก็ไม่ควรบริจาค ควรมีความรับผิดชอบ เพราะการบริจาคเลือดถือเป็นการทำบุญ ก็อยากให้ทำบุญให้ตลอด" พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวทิ้งท้าย