กรุงเทพฯ 6 ก.ค. - บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ แต่เงินบาทมีอัตราการแข็งค่าที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียโดยเปรียบเทียบ โดยเงินบาทซึ่งแข็งค่าขึ้นประมาณ ร้อยละ2.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย รองจากเงินรูเปียอินโดนีเซียที่แข็งค่า ร้อยละ 6.4
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีฐาน
ซึ่งสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลก มีสัญญาณเชิงบวกออกมามากขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกระแสการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า ประกอบกับแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชีย รวมทั้งเศรษฐกิจไทย ก็อาจทำให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ตามกระแสความแข็งแกร่งของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ นอกจากนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวม ที่อาจทยอยเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจมาพร้อมๆ กับแนวโน้มขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งมีความเป็นได้ว่า ธนาคารกลางประเทศในเอเชีย นำโดย ธนาคารกลางจีน จะเป็นธนาคารกลางแห่งแรกๆ ที่ต้องดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ซึ่งกระแสการคาดการณ์ต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจเกิดขึ้นก่อนทางฝั่งเศรษฐกิจแกนหลักของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ จี3
ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น โดยภายใต้กรณีฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทอาจปรับตัวโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และหากแรงหนุนยังคงมีความต่อเนื่อง เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นไปที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ในช่วงปลายปี 2552
สำหรับกรณีเลวร้าย ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า สัญญาณเชิงบวกของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ปรากฏขึ้นนั้น อาจไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าจะผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดของวิกฤตมาแล้วก็ตาม อาจทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัว ซึ่งภายใต้สถานการณ์นี้ ค่าเงินเอเชียบางสกุล ซึ่งอาจหมายความรวมถึงค่าเงินบาท อาจไม่สามารถขยับแข็งค่าได้มากนักเนื่องจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยสำหรับในกรณีเลวร้ายนี้ ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะปรับตัวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ยังคงต้องถูกประเมินอย่างรอบคอบ
เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจเหล่านั้น ไม่เพียงจะบ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและลักษณะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มกระแสการไหลเวียนเงินลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน ดังนั้น เสถียรภาพและศักยภาพในการแข่งขันของค่าเงินบาท ก็อาจเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ที่อาจทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายของวิกฤตในรอบนี้ไปแล้ว.- สำนักข่าวไทย