คมชัดลึก : นับตั้งแต่มีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ครั้งแรกที่ประเทศเม็กซิโกราวเดือนเมษายน ก่อนจะระบาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกในชั่วระยะเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับการเตือนภัยการแพร่ระบาดไปสู่ระดับ 6 หมายถึง การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว และมีการติดต่อจากคนสู่คน
ทุกวันนี้มีผู้ป่วยกว่า 3 หมื่นรายใน 74 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 46 ราย สิ่งที่น่าตกใจคือเพียงวันเดียวมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อถึง 30 ราย ล่าสุดพบการระบาดในสถานศึกษายิ่งสร้างความหวาดวิตกแก่ผู้ปกครองและคนในสังคมไทย กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำง่ายๆ ในการรับมือและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ดังนี้
ผู้ป่วย ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาขึ้นตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5-7 วัน ยกเว้นบางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดปอดบวม มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้
กรณี "ผู้ป่วย" เริ่มมีอาการป่วยควรหยุดเรียนอย่างน้อย 7 วัน (พ้นระยะการแพร่เชื้อ) สามารถกลับเข้าเรียนได้เมื่อหายป่วยแล้วอย่างน้อย 1 วัน และต้องแจ้งให้โรงเรียนทราบ เพื่อร่วมเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ทันท่วงที
การรักษา : รับประทานยาลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ดูแลผู้ป่วย : เช็ดตัวลดไข้, ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ, รับประทานอาหารอ่อนๆ และผลไม้ให้พอเพียง นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ : สวมหน้ากากอนามัย, ปิดปากและจมูก เวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู, ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ, หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ร่วมบ้านหรือร่วมห้อง, รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น หรือใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน, ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น หากอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
คำแนะนำ "ผู้ปกครอง" ในการดูแลบุตรหลาน ควรติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และคำแนะนำต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุขและสถานศึกษาเป็นระยะ แนะนำพฤติกรรมอนามัยให้แก่บุตรหลาน เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การป้องกันการติดเชื้อไวรัส ด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
แนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หากบุตรหลานมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้ใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกแล้วทิ้งลงถังขยะ จากนั้นจึงแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เพื่อจะได้ร่วมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสถานศึกษา ตลอดจนป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีการปิดสถานศึกษาหรือมีการระบาดของโรค หมั่นพูดคุยกับบุตรหลาน ให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้บ้าง และตอบคำถามที่เด็กสงสัยเท่าที่เด็กในแต่ละวัยจะเข้าใจได้
หากเด็กมีความรู้สึกกลัวหรือกังวล ควรแนะนำให้ระบายความรู้สึกของตนเองออกมาและตอบคำถาม รวมทั้งปลอบโยนให้คลายกังวล เด็กมักจะต้องการความรู้สึกปลอดภัยและความรัก หากบุตรหลานมีความกังวล ควรให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ ดูแลมิให้บุตรหลานหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มากเกินไป จนเกิดความกลัวหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ