ที่อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) เซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 11 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ โครงการบีอาร์ที (BRT)
ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว เปิดตัว “กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหม่ของคนไทย” และนิทรรศการ “ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต” โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย เปิดเผยว่า ปี 51 ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ค้นพบกิ้งกือกระบอก 12 ชนิดที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกทุกตัว ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารซูตาซาที่มีชื่อเสียงทางด้านสัตว์วิทยา
หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย กล่าวต่อว่า กิ้งกือที่ค้นพบเป็นสายพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างได้จากทางภาคใต้
เช่นที่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ และมีหนึ่งชนิดที่ได้จากภาคกลาง คือ อุทัยธานี ปัจจุบันมีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว คือกิ้งกือเหลืองเท้าส้ม กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม กิ้งกือเทาหลังแดง กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล กิ้งกือเหลืองดำ กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบกิ้งกือกระบอกที่คาดว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 30 ชนิด อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ และส่งไปตีพิมพ์ คาดว่าสิ้นปีนี้ไทยน่าจะมีการค้นพบกิ้งกือกระบอกรวมกันมากถึง 50 ชนิด
“ประเทศไทยมีกิ้งกือรวมทุกสายพันธุ์กว่า 500 ชนิด แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ยืนยันว่ากิ้งกือไม่เป็นอันตรายต่อคน ไม่มีเขี้ยวที่จะกัดได้ ไม่ควรทำลายโดยการนำไปทิ้ง เพราะกิ้งกือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ วิธีกำจัดควรรวบรวมไปใส่ในหลุมขยะ ประเภทซากพืช ผลไม้เน่า ๆ โดยเฉพาะมะม่วงและขนุน กิ้งกือจะกินของเสียเหล่านั้นแล้วเปลี่ยนเป็นปุ๋ย การที่ประเทศไทยมีกิ้งกือมากก็เท่ากับมีโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดย่อมกระจายตัวกันอยู่ทั่วไป”.