เด็กไทยกว่าล้านเสี่ยงจัดบกพร่องอ่านเขียนผิด

คม-ชัด-ลึก

แม้โรคแอลดี (LD : ความบกพร่องทางการเรียนรู้) จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่กลับมีคนกลุ่มน้อยที่ให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้และหาทางออกให้แก่เด็กเหล่านี้ ผู้ปกครองหรือแม้แต่ครูบาอาจารย์หลายคนมองว่า เด็กบางคนถึงแม้จะมีไอคิวปกติไปจนถึงฉลาด แต่กลับมีปัญหาเรื่องผลการเรียนตกต่ำ เกิดจากความโง่เขลาของตัวเด็กเอง โดยปราศจากการหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วให้การช่วยเหลือ แม้กระทั่งภาครัฐเองก็ยังไม่ตื่นตัวจัดหลักสูตรการเรียนการสอนพิเศษให้แก่เด็กๆ กลุ่มนี้

ผศ.น.พ.ชาญวิทย์ พรนภดล หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กประถมต้นประมาณ 10 ล้านคน มีโอกาสเป็นแอลดีถึง 1 ล้านคน เด็กเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่อนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น ถ้าช้ากว่านี้อาจแก้ไขได้ยาก เพราะเขาเริ่มพบความล้มเหลวในการเรียน ไม่มีความภูมิใจในตนเอง ครูและผู้ปกครองต้องเข้าใจเด็กและรีบช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

"เด็กผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นแอลดีด้านการอ่านและเขียน เด็กผู้หญิงจะเป็นแอลดีด้านคำนวณ ซึ่งแอลดีเกิดจากการทำงานของสมองบกพร่อง มีการตีความหมายผิดพลาด หรือสมองไม่สามารถทำงานเชื่อมโยงถ่ายทอดสิ่งที่เห็นหรือได้ยินอย่างถูกต้อง อย่างคำว่า กิน เด็กได้ยินแล้ว คิดเป็นภาพได้ แต่ไม่รู้จะเขียนออกมาอย่างไร เพราะสมองส่วนที่ควบคุมการเขียนผิดปกติ เมื่อเด็กไม่รู้จะเขียนอย่างไร เขาก็ทำไม่ได้ และไม่อยากทำ สุดท้ายเด็กก็จะถูกมองว่าเป็นเด็กโง่ เพราะความไม่เข้าใจ" ผศ.น.พ.ชาญวิทย์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ผศ.น.พ.ชาญวิทย์ ได้ยกตัวอย่างเด็กไทยที่เป็นแอลดี มีไอคิวสูงถึง 130 แต่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ นอกจากนี้ยังเขียนได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ส่งผลให้ผลการเรียนตกต่ำ จึงแนะนำให้โรงเรียนยืดระยะเวลาในการสอบออกไป ปรากฏว่าโรงเรียนไม่ยอมรับ พร้อมกับให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เด็กคนใดมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ท้ายที่สุดเด็กคนนั้นก็ต้องย้ายโรงเรียน

ด้าน ดร.กุลยา ก่อสุวรรณ ประธานโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หัวหน้าภาควิชาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ จะพบในเด็กวัยเรียนร้อยละ 5-10 ของประชากรอายุ 4-12 ขวบ โดยเด็กเหล่านี้จะมีสติปัญญาปกติหรืออาจจะฉลาดด้วยซ้ำไป แต่มีปัญหาการเรียนเฉพาะด้าน เช่น คณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน การพูด การสะกด เป็นต้น

ดร.กุลยา กล่าวอีกว่า เด็กที่เป็นแอลดีสามารถแยกจากเด็กเรียนรู้ช้า ด้วยการทดสอบไอคิว ซึ่งบางคนอาจมีจุดเด่นมากลบจุดด้อย เช่น มีความสามารถทางดนตรี ศิลปะ วิศวกรรม หรือเครื่องกล โดยที่ไม่ต้องใช้ทักษะด้านภาษาหรือคำนวณ ขณะที่เด็กบางคนถูกตอกย้ำในความผิดพลาดบ่อยๆ ยิ่งรู้สึกแย่ไม่อยากเรียน กลายเป็นเด็กเกเร หรืออาจถูกชักจูงเข้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง คบเพื่อนไม่ดี มีพฤติกรรมรุนแรง กลายเป็นเด็กที่สร้างปัญหากับสังคมในที่สุด

"ครูควรมีส่วนช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ อาจจะจัดให้เด็กนั่งแถวหน้า สอนตัวต่อตัว อ่านข้อสอบให้ฟัง ให้คะแนนตามความสามารถ ปูพื้นการอ่านในระดับที่ต่ำกว่าชั้นที่เรียนอยู่ เพื่อให้มีพื้นฐานการอ่านที่แน่นขึ้น ขณะที่ภาครัฐควรมีนโยบายช่วยเหลือทั้งงบประมาณและบุคลากร เพื่อให้โรงเรียนต้องวางแผนการเรียนการสอนเด็กเป็นรายบุคคล" ดร.กุลยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีการสำรวจตัวเลขเด็กวัยเรียนที่เป็นแอลดีอย่างชัดเจน แต่จากการวิจัยของ มศว พบว่าเด็กในวัยเรียนมีโอกาสเป็นแอลดี 5-10% ในจำนวนนี้มีอาการดิสเล็กเซียสูงถึง 80% และจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษาและกรมวิชาการ ปีงบประมาณปี 2546 มุ่งหวังจัดการศึกษาปฐมวัย 1,435,995 คน และจัดการศึกษาประถมศึกษา 4,781,617 คน คาดว่าจะมีเด็กที่เป็นแอลดี 621,761 คน และอาจเป็นดิสเล็กเซียถึง 528,496 คน

นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะปี 2543 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ยังสนับสนุนว่า ประชากรไทยอายุ 6-14 ปี ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ 1,672,648 คน

แอลดีหรือความบกพร่องด้านการเรียนรู้มี 4 ประเภทคือ ความบกพร่องด้านการเขียนและการสะกดคำ, ความบกพร่องด้านการอ่าน (ดิสเล็กเซีย), ความบกพร่องด้านคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ และความบกพร่องหลายๆ ด้านร่วมกัน มีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพของสมอง, ความผิดปกติของสมองซีกซ้าย, ความผิดปกติของคลื่นสมอง, กรรมพันธุ์ และพัฒนาการล่าช้า

อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยจะเริ่มรู้จักโรคแอลดีบ้างแล้ว แต่ระบบการศึกษาของไทยก็ยังมองเด็กกลุ่มนี้ว่ามีไอคิวต่ำหรือเรียนรู้ช้า ทำให้ขาดโอกาสที่จะช่วยเหลือแก้ไขความบกพร่องที่เกิดขึ้น แต่ก็โชคดีที่สถานศึกษาแห่งหนึ่งเริ่มให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้แล้ว

นางจรรยา ทองอำไพ ผอ.สถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดปราสาททอง) จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ปกติโรงเรียนจะรับเด็กมีการเรียนรู้บกพร่องในเขตเทศบาล เช่น ออทิสติก ปัญญาอ่อน และเรียนรู้ช้า โดยมีการเรียนการสอนรวมกับเด็กปกติ แล้วประเมินผลตามศักยภาพของผู้เรียน แต่ก็ยังพบปัญหาเด็กปกติที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือช้า เขียนผิด และไม่เว้นวรรค จึงปรึกษาน้องสาวที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ จึงรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษ ให้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่

"ต้นปี 2548 เริ่มคัดกรองเด็กที่เป็นแอลดีจากนักเรียนกว่าพันคน พบในระดับประถม 2 คน และระดับมัธยมอีก 1 คน ปีการศึกษาล่าสุดก็เริ่มจัดการเรียนการสอนตามศักยภาพของเด็ก โดยไม่ได้แยกห้องเรียน แต่จะสอนเสริมการเขียนการอ่านตามหลักสูตรสอนเด็กแอลดีโดยเฉพาะ ถึงแม้ครูจะเหนื่อยกว่าปกติ แต่ทุกคนก็เต็มใจช่วยเหลือ เพราะอยากให้เขาอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข" นางจรรยา กล่าว

ด.ช.สมพร (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.2 ตัวสูง รูปร่างหน้าตาดี เป็นเด็กในกลุ่มแอลดี มีปัญหาด้านการอ่านและเขียน ปกติจะนั่งอยู่หลังห้องเป็นประจำ แต่ครูประจำชั้นเริ่มปรับให้นักเรียนชายมานั่งเรียนแถวหน้าแล้วสอนการอ่านและเขียนเสริมในชั่วโมงพิเศษ บอกว่า ถ้าครูบอกคำยาวๆ จะเขียนไม่ค่อยได้ แต่จะลอกตามที่ครูเขียนบนกระดานดำได้ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษจะไม่รู้เรื่องเลย พอไม่รู้เรื่องก็ไม่อยากเรียน ก็หนีไปนั่งหลังห้อง แอบกินขนมบ้าง เล่นกับเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้ครูให้มานั่งหน้าห้องแล้ว ก็ต้องตั้งใจเรียนมากขึ้น

"ผมเขียนหนังสือ ตัวลีบๆ แบบรีบๆ ให้มันเสร็จเร็วๆ ผมไม่รู้หรอกว่าผมผิดปกติหรือเปล่า แต่ผมไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว ตั้งใจว่าจะเรียนแค่ ม.3 เพราะเรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง แม่บอกว่าถ้าเรียนไม่ไหวก็ให้ออก โดยส่วนตัวผมชอบซ่อมรถมากกว่าเรียนหนังสือ" ด.ช.สมพร กล่าว

เช่นเดียวกับ ด.ช.สมศักดิ์ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วว่าเป็นแอลดี กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า อ่านและเขียนภาษาไทยได้ แต่เขียนคำยากๆ ไม่ได้ ครูที่เคยสอน สมศักดิ์ ตอนอยู่ชั้น ป.5 บอกว่า สมศักดิ์มีมนุษยสัมพันธ์ดี คุยเก่ง ชอบช่วยเหลือครูและเพื่อน แต่ไม่ค่อยชอบทำการบ้าน เขียนหนังสือช้ามาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ไม่สามารถคูณและหารเลขได้ และไม่รู้จักหน่วยของตัวเลข แม้จะสอนแล้วก็ยังทำไม่ได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์